“ทุ่งคา” เปิดบัญชี หลัง “ทุ่งคำ” ขนแร่ออกจากเหมืองทอง
(โดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา)
รายงานทางการเงิน ในปี
2557 ของ บริษัท
ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หลังจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขนแร่ออกจากเหมืองทอง
2 รอบ
รอบแรกในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีกองกำลังติดอาวุธนับร้อยคุ้มกันขบวนรถแร่และมีการทำร้ายชาวบ้านอย่างป่าเถื่อนจนชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายราย
ส่วนการขนแร่รอบที่ 2 ในวันที่
8-9 ธันวาคม 2557 โดยแลกกับการถอนฟ้องคดีอาญาและแพ่งกับชาวบ้าน
8 คดี จากคดีทั้งหมดที่
“ทุ่งคำ” ฟ้องชาวบ้าน 9 คดี เรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านประมาณ
270 ล้านบาท
ตัวเลขในบัญชี ปี 2557 ของ "ทุ่งคา"
ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 98.03 ใน “ทุ่งคำ”
และมีรายได้หลักจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำของ “ทุ่งคำ” จึงมีรายได้จากการขายทองคำและทองแดง
ประมาณ 17.68 ล้านบาท จากต้นทุนการขายทองคำและทองแดงดังกล่าว ประมาณ 23.16 ล้านบาท
งบกระแสเงินสด ในปี
2556 มีรายจ่ายในโครงการเหมืองแร่ทองคำ (ตัดบัญชี) 4.19 ล้านบาท
บริษัทฯ
ประมาณการค่าภาคหลวง ส.ป.ก. ในปี 2557 12.6 ล้านบาท (ปี 2556 ประมาณ 2.4
ล้านบาท)
รวมเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
ของ "ทุ่งคา" คงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ประมาณ 5.4
ล้านบาท
สรุป งบการเงินรวม
ในปี 2557 “ทุ่งคา” มีผลขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 1,023.83 ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะบริษัท มีผลขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 113.11 ล้านบาท
จากรายงานดังกล่าวได้ชี้แจงเรื่องคดีความฟ้องร้องกับ
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2550
คดีที่ 1 เรื่องการชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูป ระหว่างเดือนมกราคม
ถึง พฤศจิกายน 2550 เป็นจำนวนเงินเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวง จำนวน 14.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ที่ “ทุ่งคำ” ไม่ได้ชำระให้แก่ ส.ป.ก.
ด้าน “ทุ่งคำ” ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง
เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือของ ส.ป.ก. ที่ให้บริษัทฯ ชำระเงินดังกล่าว
และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ส.ป.ก. คืนเงินซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้ว จำนวน 84 ล้านบาท คืนแก่บริษัทฯ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
คดีที่ 2 ความยินยอมให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่เป็นคดีความมาตั้งแต่ปี
2554
โดย ส.ป.ก.
มีหนังสือยกเลิกความยินยอมให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินของ “ทุ่งคำ” เมื่อวันที่
9 พฤษภาคม 2554 “และให้ บริษัทฯ ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและพนักงานออกจากเขตปฏิรูปที่ดินภายใน
60 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือ
“ทุ่งคำ” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อเพิกถอนคำสั่งของ
ส.ป.ก. และได้ยื่นขอทุเลาการบังคับคดีและขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งต่อมาศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือยกเลิกความยินยอมให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน
และยกเลิกหนังสือที่ให้ “ทุ่งคำ” ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและพนักงานออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน
ส.ป.ก. ได้ยื่นอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
คดี
ธนาคารดอยซ์แบงก์ AG
ในปี 2554 ธนาคารดอยซ์แบงก์ AG ยื่นฟ้อง "ทุ่งคำ" ต่อศาลประเทศอังกฤษ
ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่อังกฤษ เพื่อเรียกเก็บเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาส่งมอบทองคำที่
“ทุ่งคำ” ไม่ได้ชำระประมาณ 1,490 ล้านบาท ต่อมา อนุญาโตตุลาการที่อังกฤษ
มีคำชี้ขาดตัดสินให้บริษัทย่อยชดเชยเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าเสียหายรวมประมาณ 51.44 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,543 ล้านบาท
ส่วน "ทุ่งคำ" ได้ฟ้อง
ธนาคารดอยซ์แบงก์ AG ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาดังกล่าวและเรียกทรัพย์คืน จำนวน 479.15 ล้านบาท แต่ ศาลมีคำสั่งให้
"ทุ่งคำ" และธนาคารดอยซ์แบงก์ ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบ
"ทุ่งคำ"
ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โดยศาลรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556
ทางด้าน
ธนาคารดอยซ์แบงก์ AG นำมูลหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่อังกฤษ
ยื่นฟ้อง "ทุ่งคำ" เป็นคดีล้มละลาย ต่อศาลล้มละลายกลาง
ศาลล้มละลายกลางนัดสืบพยานลูกหนี้ในวันที่ 25 มีนาคม 2558
สถานการณ์ล่าสุดของ
“ทุ่งคา” หลังขาดทุนมาติดต่อกันมาหลายปี เป็นหนี้เป็นสิน ถูกฟ้องร้องในหลายคดีจากลูกหนี้หลายๆ
ฝ่าย เมื่อวันที่ 5
พฤศจิกายน 2557 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ "ทุ่งคา" ฟื้นฟูกิจการ
และ "ทุ่งคา"
เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาฐานะการเงินเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน
ระยะที่ 3 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะครบกำหนดการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลภายในวันที่
13 เมษายน 2558
หลักเกณฑ์การขอพ้นเหตุเพิกถอนที่สำคัญ
คือ บริษัทจะต้องมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลัก ซึ่งจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีกำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ต้องปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 75 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นต้น
แม้
"ทุ่งคา" จะอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ
ได้แจ้งกับ ผู้ถือหุ้น และตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย
ได้กำหนดแผนการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัททั้งระบบโดยมีเงินทุนซึ่งประกอบด้วย
เงินสด สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ที่ดี สิทธิในการทำประโยชน์ และสัมปทานเหมือง
เพียงพอต่อการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานให้เกิดกำไรและเพียงพอต่อการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในการดำเนินการในอนาคตได้
ทั้งนี้ บริษัทฯ
อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชาพิจารณ์ EHIA รอบที่ 3
สำหรับการยื่นขอประทานบัตรทำเหมือง แปลง T-1-S
บริเวณภูเหล็ก ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยขนาดพื้นที่ประมาณ
290 ไร่ และ อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชาพิจารณ์ EHIA รอบที่ 2
สำหรับการยื่นขอประทานบัตรทำเหมือง แปลง T-3 บริเวณบ้านหัวนา ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลยขนาดพื้นที่ประมาณ 286 ไร่
สำหรับใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าไม้ที่หมดอายุไปเมื่อปี
2555 ยังอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมป่าไม้
ในเร็ววันนี้ที่น่าจับตา
คือ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่า กับ พื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองทอง ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เนื่องจากทาง
ส.ป.ก. ยังมีคดีที่ผู้ประกอบการเบี้ยวหนี้ค้างคากันอยู่ในชั้นศาล ส่วนการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่ากับ
กรมป่าไม้ ซึ่งตามระเบียบของกรมป่าไม้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ประกอบการจะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบล หรือ
องค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ ในขณะที่เหมืองทองได้ฟ้อง นายสมัย
ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่นำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าฯ เข้าเสนอในที่ประชุมสภา
ทางด้านชุมชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองยังคงแข็งกร้าวประกาศ
“ไม่เอาเหมือง” คัดค้านการใช้พื้นที่ป่า และไม่สามารถอยู่ร่วมกับเหมืองทองได้
ในท้ายที่สุด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมอบประทานบัตร แปลงภูเหล็ก แปลงนาโป่ง และให้เหมืองทองเปิดเหมืองขยายพื้นที่เพิ่มต่อไปหรือไม่
เนื่องจากเห็นชัดแล้วว่า ที่ผ่านมาการมอบอาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตร คือการมอบแร่ทองคำให้กับผู้ประกอบที่ล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจขาดทุนมาตลอด
เพื่อแลกกับการถือหุ้นที่ไม่ทำกำไร หมายถึงการเลือกที่จะอุ้มชูดึงดันให้ผู้ประกอบการที่ล้มเหลว
เบี้ยวหนี้ ฟ้องรัฐ ได้นำทรัพยากรใต้ดินที่มีค่า
ทรัพยากรที่รัฐยืนยันว่าเป็นทรัพยากรด้านมั่นคงของประเทศ ไปใช้หนี้ให้เจ้าหนี้ต่างๆ
โดยทำรายได้เป็นเศษเงินเข้ารัฐแค่ค่าภาคหลวง
ส่วนผลกระทบที่เหมืองแร่ได้ทำลายระบบนิเวศ
สิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพของชุมชนรอบเหมืองทอง ถ้าจะตั้งคำถามเรื่อง
ความรับผิดชอบ หรือ ธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นกฎ กติกา ธุรกิจ ภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ หรือการดำเนินงานของรัฐ
แต่หากเป็น “ทุน” ไม่ว่าจะทุนสังกัดไหนสายใดก็คงจะมองเห็นแต่ตัวเลขเป็นหลัก
ที่หนักกว่านั้นและคงไม่ใช่เรื่องแปลก
หาก “ตัวเลข” ที่มากกว่านั้นไม่ได้ปรากฏในระบบ และเป็นที่มาให้รัฐเปิดประตูอ้าซ่าเตรียมมอบ
“เหมืองแร่ทองคำ” เพิ่มอีก 300 แปลง ไว้ให้เครือข่ายทุนได้ถลุงตักตวงร่วมกันต่อไป
คณะกรรมการของ "ทุ่งคา" ชุดปัจจุบัน
1. นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
2. รศ.ดร.ธารินี พงศ์สุพัฒน์ กรรมการอิสระ/
ประธานกรรมการตรวจสอบ (คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
3. นายอำนวย ถาวรวงศ์ กรรมการอิสระ/
กรรมการตรวจสอบ
4. นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ กรรมการ
(อดีตนักวิทยาศาสตร์ ที่เคยวิจัย เครื่องสำอางค์จาก"กวาวเครือ")
5. นายเอกชัย โชติยานนท์ กรรมการอิสระ/
กรรมการตรวจสอบ (ประธานกรรมการบริษัท ศิลามณี (1992) หินอ่อนและแกรนิต จำกัด, บริษัท อาณาจักรสุโขทัยหินอ่อนและแกรนิต จำกัด, บริษัท PV หินอ่อน
จำกัด และบริษัท แกรนิตเพชรบูรณ์ จำกัด)
7. นายรุทธิรงค์ สุ่นกุล กรรมการอิสระ
(อดีต เลขานุการประจำคณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์
ในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน
และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร 2556)
8. นายนิพนธ์ กีรติพิทยาภรณ์ กรรมการอิสระ
(อดีต ผู้อำนวยการกองควบคุมการก่อสร้าง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร 2554)
9. นายเอียน แพสโค กรรมการ
(ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย)
10. นายวีระวุฒิ วิทยกุล กรรมการ
เป็น “ผู้แทนกระทรวงการคลัง” (รองอธิบดีกรมสรรพากร)
11. นายศุภชัย ใจสมุทร กรรมการอิสระ
(รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย)
12. นายสุเทพ บุระมาน กรรมการ
ที่มา http://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=THL&language=th&country=TH
(ภาพการขนแร่ : กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด)
No comments:
Post a Comment