เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ "ท่าทีต่อปัจจัยคุกคามแม่น้ำโขง เขื่อน การผันน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศข้ามพรมแดน"
(23 กรกฎาคม 2558 ณ วัดป่าเทพวิมุติ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ)
วันนี้ที่จ.บึงกาฬ มีการจัดกิจกรรมประชุมหารือของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง พวกเราซึ่งเป็นคนท้องถิ่น คนหาปลา ชาวไร่ชาวนา เป็นผู้ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงตลอดมา แต่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นดังเส้นเลือดของภูมิภาค กลับถูกกระทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเป็นต้นมา จนบัดนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 6 เขื่อน
หากแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเพราะธรรมชาติ เราจำยอมรับได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงความเสียหายนั้นเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ด้วยนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงโดยปราศจากความรับผิดชอบ
พวกเราที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงตลอด 8 จังหวัด นับจากจ.เชียงราย ลงมาถึงอุบลราชธานี ล้วนแต่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระดับน้ำที่ผันผวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศน้ำโขงและเชื่อมไปยังลำน้ำสาขา เกษตรริมน้ำ การหาปลา การคมนาคม แหล่งน้ำ เศรษฐกิจท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ
เรามีท่าทีต่อกรณีปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาสู่ชุมชน ดังนี้
1. คดีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้ฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 4 หน่วยงานรัฐในการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2557 ขณะนี้ศาลมีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 และหลังจากนี้ศาลจะพิจารณาคดี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คดีนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานในการสร้างความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (Extraterritorial Obligations-ETOs) ที่แม้ว่าการดำเนินการของรัฐจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่หากเกิดผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนในประเทศไทยหรือประเทศที่ใช้น้ำร่วมกัน สิทธิชุมชนย่อมได้รับการคุ้มครองและชดเชยความเสียหาย
2. การผันน้ำแม่น้ำโขงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว ทั้ง[1] แนวทางการผันน้ำโขง กก อิง น่าน [2] แนวผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเรามีความเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ พิจารณาการใช้น้ำในพื้นที่ และตระหนักว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจะต้องผ่านกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ระหว่างลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม
3. การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 8 จังหวัดริมโขง จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุน บนทรัพยากรท้องถิ่น แต่ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับประโยชน์ใดๆ
4. อุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดในพื้นที่ เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.หนองคาย เหมืองแร่เหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย นิคมอุตสาหกรรมริมน้ำโขง โรงไฟฟ้าขยะเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม เหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและเบียดขับชุมชนออกจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ในขณะที่การจัดการป้องกันมลพิษและผลกระทบกลับยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ซ้ำขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
เราขอยืนยันในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร แต่การตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตเรากลับถูกรวบรัด โครงการขนาดใหญ่ นโยบายต่างๆ ล้วนแต่ถูกตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ในขณะที่สร้างผลกระทบต่อคนนับหมื่นนับแสนอย่างที่เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว
รัฐ มีหน้าที่ปกป้องสิทธิให้แก่พลเมือง รัฐต้องไม่เป็นเครื่องมือให้ทุน เบียดขับประชาชน
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาแม่น้ำโขง ในฐานะปัญหาสำคัญเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีส่วนในการคิดร่วม วางแผนร่วม และประโยชน์ร่วม การตัดสินใจทุกอย่างต้องอยู่บนฐานของความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ มิใช่ตัดสินใจเพราะเม็ดเงิน
แท้จริงแล้วชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ควรเป็นผู้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรส่วนรวมอย่างยั่งยืน
No comments:
Post a Comment