วันที่
26
ก.ย. 58 ที่ โรงเรียนบ้านแหงเหนือ ต.บ้านแหง
อ.งาว จ.ลำปาง มีการจัดงานครบรอบ 5 ปี การต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างเหมืองแร่ลิกไนต์ในตำบลบ้านแหง
ของ ‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง’
‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง เป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันจากชาวบ้านหมู่ที่ 7
และหมู่ที่ 11 ใน ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง
เพื่อร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในตำบลบ้านแหง
มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 โดยมีเหตุเนื่องมาจากเมื่อวันที่
23 กันยายน 2553 มีหน่วยงานมาจัดประชุมในหมู่บ้าน
โดยแจ้งว่าเป็นการจัดประชุมชี้แจงโครงการก่อสร้างเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของบริษัท
เขียวเหลือง จำกัด
นับเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทราบว่าจะมีการสร้างเหมืองแร่
โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบเรื่องหรือได้รับการแจ้งจากหน่วยงานใดมาก่อน ต่อมาภายหลังปรากฏว่า มีการอ้างว่า ในการประชุมชี้แจงโครงการวันดังกล่าวเป็นการที่ชาวบ้านได้ทำประชามติเห็นชอบโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แล้ว นับจากนั้นชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าว
ด้วยเห็นว่าการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม เล็งเห็นได้ว่าย่อมก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม
วิถีการทำมาหากิน และเล็งเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวย่อมเกิดผลกระทบทางสุขภาพเช่นเดียวกับที่ชาวอำเภอแม่เมาะ
จังหวัดลำปางต้องประสบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์มาจนทุกวันนี้
โดยในงานวันครบรอบ
5
ปี การต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ
และถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ มีจัดเวทีเสวนาเรื่อง “การต่อสู้ของกลุ่มรักษ์บ้านแหง” โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นางสมหมาย หาญเตชะ นางสาวแววรินทร์ บัวเงิน ร.ต.ประพันธ์ ธรรมยศ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง นายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
(สกน) และหลวงพ่อทีปโก จากจังหวัดแพร่ และดำเนินรายการโดย นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า
ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน
ประเด็นการเสวนามีการบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มรักษ์บ้านแหงที่ยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่
จนเข้าสู่ขบวนการทางกฎหมายกลายเป็นคดีความที่มีการฟ้องร้องกันกว่า 9
คดี โดยชาวบ้านต้องเดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอให้พิจารณาและเพิกถอนใบอนุญาตต่าง
ๆ ที่จะมีผลให้การดำเนินโครงการเหมืองแร่ดำเนินต่อไปได้โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนในชุมชน
อันถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนตามที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
มิใช่เพื่อการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชนตนเท่านั้น
แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานแก่สังคมไทยต่อไปในการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหรือโครงการที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชน
ซึ่งสมควรจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม
มิใช่เพียงคำนึงถึงผลประโยชน์หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น
นอกจากนี้
ในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ "ชุมชน--บ้านแหงเหนือ" ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำโดยกลุ่มรักษ์บ้านแหง
เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชน สถานที่สำคัญ
และประเพณีวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาในชุมชนด้วย
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย
เกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มและชุมชนที่ผ่านมา สถานที่สำคัญ และสภาพแวดล้อมของชุมชน
โดยตลอดงานมีการขับกล่อมบรรเลงเพลงโดยกลุ่มคนต้นน้ำ จากแม่สร้อย จ.แพร่
ร่วมกับเยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง โดยได้มีการแต่งเพลงเกี่ยวกับกลุ่มรักษ์บ้านแหงขึ้นใหม่เพื่อขับร้องในงานวันดังกล่าวด้วย
.........................
(/กลุ่มรักษ์บ้านแหง)
No comments:
Post a Comment