About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Thursday, June 12, 2014

ขีดจำกัดทางนิเวศและความเป็นธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร โลกของความเห็นต่างที่ไม่เคยถูกเคารพ



ขีดจำกัดทางนิเวศและความเป็นธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร
โลกของความเห็นต่างที่ไม่เคยถูกเคารพ

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์
กลุ่มศึกษาสังคมนิยมธรรมชาติ

Developments in the World is just for Economic Growth หรือ การพัฒนาในโลกล้วนเป็นไปเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย และผลพวงจากการพัฒนานั้นกลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำบนโลกมากขึ้น แถมยังต้องแลกมาด้วยการล้างผลาญทรัพยากรและหายนะของระบบนิเวศโลกอีก
เศรษฐีโลกเพียง 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 40% บนโลก ขณะที่คนอีก 50% ในระดับฐานล่างกลับถือครองทรัพย์สินรวมกันเพียง 1% เท่านั้น ทุกปีเศรษฐกิจโดยรวมของโลกเติบโตขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในระบบโลกล้วนเพิ่มมากขึ้น แต่เงิน รายได้ สินทรัพย์เหล่านั้นตกไปอยู่ที่ใคร ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมกลับถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ นั่นย่อมชี้ให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาโลกที่ล้มเหลว
โลกเป็นระบบนิเวศเดียว (Global Ecosystem) ผลกระทบต่างๆ จากการบริโภค การทิ้งของเสีย การทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่คนทั้งโลกเผชิญร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นทุกปี อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น การขาดแคลนอาหาร การขยายตัวของทะเลทราย ขยะสารพิษและสารเคมีที่ไหลลงสู่มหาสมุทร การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ฯลฯ นี่คือปัญหาของคนทั้งโลกที่มีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำและการกระจายการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม คนที่รวยมากอาจจะรวยกว่ารายได้ประชาชาติของหลายๆ ประเทศรวมกัน ขณะที่คนจนส่วนใหญ่นับพันล้านคนบนโลกยอมทำทุกอย่างเพื่อปากท้อง
บริษัทที่มีรายได้มากที่สุดของโลกในปี 2013 (2556) อันดับที่ 1 คือ “Exxon Mobil” บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียม ปัจจุบัน Exxon Mobil ครองแชมป์บริษัทร่ำรวยที่สุดด้วยรายได้กว่า 502,300 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 2 “Shell” บริษัทยักษ์ใหญ่ลูกผสมระหว่างดัตช์และอังกฤษที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานเช่นกัน Shell มีรายได้อยู่ที่ 492,000 ล้านเหรียญสหรัฐ[1] ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยในปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 474,686 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ Shell มีรายได้มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลาวถึง 70 เท่า (ในปี 2553 ลาวมี GDP ประมาณ 6,946 ล้านเหรียญสหรัฐ)[2]
ในระดับภูมิภาค ผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทุนนิยมโลกด้วยโครงการขนาดใหญ่ ได้กลายเป็นปมปัญหาข้ามพรมแดนและสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ การตัดสินใจอนุมัติสร้างเขื่อนสาละวินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้จีนของรัฐบาลพม่าในเขตที่ตั้งกองกำลังไทใหญ่ อาจจะทำให้คนไทใหญ่หลายหมื่นคนต้องอพยพจากน้ำท่วมหมู่บ้าน ผู้คนเหล่านี้จะมีชะตาชีวิตเช่นไร เขาจะอพยพไปไหน หรือต้องจับปืนขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง ในประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลักดันสำคัญให้เกิดการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งการให้เงินกู้นับแสนล้านบาทโดยธนาคารของไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทเอกชนของไทย จัดตั้งบริษัทในลาวโดยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย เพื่อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย และในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้ามากถึง 50,000 เมกกะวัตต์ (ปัจจุบันเราใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 25,000 เมกกะวัตต์) นั่นเท่ากับว่าอัตราการใช้ไฟฟ้าของไทยจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวภายใน 20 ปี จากที่เคยมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2427 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า อาจจะเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพลถึง 34 เขื่อน (เขื่อนภูมิพลผลิตไฟฟ้าได้ 737.5 เมกะวัตต์[3]) ทั้งหมดก็เพื่อการบริโภค การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา เท่านั้นหรือ? 
เขื่อนดอนสะฮง ไซยบุรี คอนพะเพ็ง และอีกหลายๆ เขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้นในแม่น้ำโขง จะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินในน้ำโขงและแม่น้ำสาขาของผู้คนกว่า 60 ล้านคน ในลุ่มน้ำโขง เพื่อแลกกับกระแสไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากแม่น้ำอาเมซอน กำลังจะถูกทำลายจากการพัฒนา นั่นคือฐานทรัพยากรของคนระดับฐานล่างหลายล้านคนที่พึ่งพาสิ่งที่ธรรมชาติให้มา หรือการบริการของระบบนิเวศ (Ecosystem service)
โลกนี้กำลังพัฒนาไปสู่หนใด ความเห็นต่างของคนมากมายบนโลกที่เรียกร้องให้รัฐบาลแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศร่ำรวย เห็นความสำคัญกับการแก้ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก แต่ก็ไม่เคยถูกเคารพจากการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเลย กิจการยักษ์ใหญ่เช่นเหมืองแร่และปิโตรเลียม ยังเป็นผู้สนับสนุนและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการพัฒนาของทุกรัฐบาลในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจและคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต
ความเห็นต่างทางการเมืองของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องไร้สาระในแง่มุมด้านนิเวศวิทยา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศจากการรัฐประหารล่าสุดก็อาจจะไม่แตกต่างกัน หากไม่ให้ความสำคัญและพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สิทธิชุมชนและสิทธิของธรรมชาติอย่างจริงจัง ที่ดิน ผืนน้ำ ผืนป่า ระบบนิเวศ ยังถูกช่วงชิงไปจากชุมชนและธรรมชาติเพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจ ดูเหมือนเศรษฐกิจจะจำเป็นเสมอในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าสังคมการเมืองการปกครองจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างยังต้องหลีกทางให้เศรษฐกิจ
กรณีท่อส่งน้ำมันจากเรือขนส่งน้ำมันดิบรั่วลงสู่ทะเลที่เกาะเสม็ดเมื่อต้นปีที่แล้ว จนป่านนี้ชาวประมงยังหาปลาไม่ได้ ทะเลที่นั่นปลายังไม่กลับมาให้จับ การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การประเมินความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และความเสียหายจากการละเมิดที่ต้องรีบทำให้เสร็จเพื่อส่งฟ้องผู้ก่อเหตุก็เหลืออายุความอีกเพียงแค่ 1 เดือน การเยียวยาชาวบ้านก็มีเพียงการจ่ายเงินช่วยเหลือเฉพาะหน้ารายละ 3 หมื่นบาท และห้ามเรียกร้องเพิ่มเติมอีกโดยบังคับให้ชาวบ้านเซ็นยินยอม จังหวัดเป็นธุระจัดการเรื่องนี้แทนบริษัท แผนการฟื้นฟูที่หน่วยงานรัฐเสนอมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ปลูกปะการัง ทำปะการังเทียมและทำทุ่นผูกเรือ ใช้เงินเพียง 51 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสาระสำคัญคือการจัดการบำบัดน้ำมันในทะเลแต่อย่างใดเลย งานนี้มีกรรมการหลายชุดจากหลายหน่วยงานราชการ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรชายฝั่ง และสำนักงานจังหวัด แต่แทบไม่มีอะไรคืบหน้า ยังไม่มีการฟ้องร้องอะไรกับผู้ก่อเหตุที่เป็นเอกชนเลย ทั้งที่เอกชนรายนี้เป็นบรรษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ผูกขาดกิจการด้านพลังงานหลักของประเทศ มีผลกำไรนับแสนล้านบาท มีบริษัทในเครือนับร้อย
ความรับผิดชอบดูเหมือนจะมีเพียงการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาเที่ยวเกาะเสม็ด ชายหาดสะอาดแล้ว เล่นน้ำทะเลได้ กระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะแต่บริเวณที่น้ำมันรั่วและคราบน้ำมันบนหาดเท่านั้น คราบน้ำมันที่แพร่กระจายกินบริเวณกว้างกว่าที่เป็นข่าว รวมทั้งที่จมลงสู่ก้นทะเล ทำให้ชาวประมงและกิจการต่อเนื่องหลายพันครอบครัวได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกหลายปีและการทำความสะอาดใต้ท้องทะเลก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของธรรมชาติในการบำบัดตัวเอง เพราะยังมีเทคโนโลยีและวิทยาการฟื้นฟูที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องจ่ายและอาจจะต้องจ่ายแพง แต่ก็เป็นไปตามหลักสากล คือ ผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) นี่คือความรับผิดชอบและธรรมาภิบาลของบรรษัทที่ต้องแสดงให้สังคมได้เห็น ถึงแม้ว่าประโยชน์อันเกิดต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติจากบริษัทอาจจะมากมายมหาศาล แต่การเข้าถึงประโยชน์นั้นของประชาชนที่ต้องใช้น้ำมันในราคาแพงยังเป็นคำถามใหญ่ ยิ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อระบบนิเวศสำหรับกิจการสาธารณะของรัฐที่เพิ่งจะแปรรูปไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่า “ผลกำไรของบริษัทและผู้ถือหุ้นสำคัญที่สุด”
จังหวัดระยองอาจจะสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่าจังหวัดใดๆ เพราะมีอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และอุตสาหกรรมเคมีจากผลพลอยได้ดังกล่าว แต่คุณภาพชีวิตของคนระยองกลับต่ำกว่ามาตรฐาน คนพื้นเพเดิมอาจจะอพยพไปอยู่ที่อื่น คนงานจากทั่วประเทศมาใช้ชีวิตและทำงานที่นี่ ยอมเสี่ยงที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่เพื่อแลกกับรายได้เลี้ยงครอบครัว นั่นยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยได้ผ่องถ่ายไปสู่เจ้าของกิจการไม่กี่คนซึ่งใช่ชีวิตอย่างสบายอยู่ที่อื่น อันที่จริงก็คือคน 1% ที่ได้เคยกล่าวไว้ 
ความเห็นต่างและเสียงของประชาชนมากมายในประเทศนี้ยังเป็นเพียงเสียงเล็กๆ และไม่เคยถูกเคารพ เสียงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ โครงการเขื่อน การจัดการน้ำขนาดใหญ่ การถูกไล่รื้อออกจากที่ดิน ล้วนถูกปล่อยปละละเลยมานานหลายสิบปี เสียงเหล่านี้อันที่จริงคือเสียงที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและระบบนิเวศมากที่สุด ชาวบ้านจากปากมูน ราศีไศล ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมา 20 ปี เขาเรียกร้องแทนชุมชน ธรรมชาติ ระบบนิเวศ และฝูงปลาที่เคยแหวกว่ายอย่างอิสระ ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วเกือบ 20 รัฐบาล ผ่านรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่เขื่อนก็ยังตั้งตระหง่านขวางแม่น้ำมูนอยู่ ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากทุกสำนักวิชาการต่างบอกว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่าและส่งผลกระทบในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น 
ต้องใช้เงินอีกมากมายเพียงใดในการทำความสะอาดลำห้วยคลิตี้ที่มีตะกั่วนับหมื่นๆ ตันจมอยู่ใต้ลำห้วย ขณะที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือกและต้องใช้น้ำจากลำห้วยนั้น
บนภูเขาใกล้หมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีบ่อเก็บกากแร่ซึ่งปนเปื้อนด้วยไซยาไนด์ แคดเมียม สารหนู แมงกานีส นับล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรอคำตอบจากเหมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะจัดการกับมันอย่างไร เพราะที่ผ่านมาสร้างปัญหามาโดยตลอดทั้งบ่อเก็บกากแร่พัง โลหะหนักปนเปื้อนน้ำผิวดิน ใต้ดิน ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีไซยาไนด์ในเลือดเกินมาตรฐาน ข้าวปลาอาหารตามธรรมชาติกินไม่ได้ แต่ประทานบัตรก็ยังไม่ถูกระงับ ล่าสุดมีการนำกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายหลายร้อยมารุมทำร้ายชาวบ้านที่ไม่ยอมให้รถขนแร่ผ่านชุมชนจนบาดเจ็บหลายสิบคน      
เราไม่สามารถพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดได้ เพราะระบบนิเวศ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีขีดจำกัด ภาระที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูและบำบัดตนเองนั้นเป็นเรื่องยากในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นนั้นมีรูปแบบและความพิเศษที่หลากหลายเกินกว่าพลังธรรมชาติจะจัดการได้ในเวลาอันสั้น มันจึงวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศจากแหล่งกำเนิดหนึ่งไปสู่อากาศ สู่ดิน น้ำ อาหาร และมนุษย์ มันอาจจะวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายชั่วคน และสารเหล่านี้ก็ไปสร้างความผิดปกติ และความเจ็บป่วยกับทุกชีวิตที่อยู่ในเส้นทางของมัน
โลกของการแบ่งปันจะไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยการเอาตัวเลขรายได้รวมของประเทศหารด้วยจำนวนประชากรเพื่อเอาไว้โชว์ตัวเลขรายได้เฉลี่ยสวยๆ เพราะรายได้อันเป็นเงินหรือสินทรัพย์จริงๆ ไม่ได้ถูกแบ่งมาด้วย คนที่มีเงินอยู่แสนล้านจากการปล้นทรัพยากรในนามการพัฒนาไปจากคนหลายล้านก็ยังมีเงินนั้นอยู่ในธนาคาร แต่คนที่ยังออกเรือหาปลาและจับปลาไม่ได้ก็ยังต้องอดมื้อกินมื้ออยู่ต่อไป การเมืองและเกมแห่งอำนาจนั้นโหดร้ายเสมอในระบอบทุนนิยมโลก ไม่ว่าชนชั้นปกครองจะได้อำนาจมาด้วยวิถีทางใด แต่เมื่อยังอยู่ในวังวนของนโยบายการพัฒนาแบบเดิม ฟังข้อมูลและเสียงของพ่อค้า นายทุน ข้าราชการอยู่เช่นเดิม ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมได้..      



[1] World’s Top 10 Richest Companies for the Year 2013. http://thumbsup.in.th/2013/10/worlds-top-10-richest-companies-of-the-year-2013-infographic/
[2] รายชื่อประเทศเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ราคาตลาด). http://th.wikipedia.org
[3] ข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก. http://web.ku.ac.th/king72/2521/king51.htm