About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Monday, May 21, 2012

เชิญร่วมทำข่าวการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ "คดีเขาคูหา"


เชิญร่วมทำข่าวการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ "คดีเขาคูหา"
กรณีชาวบ้านฟ้องศาลแขวงสงขลาเรียกค่าเสียหายจากการประกอบกิจการระเบิดหิน
วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 9.00 น.
ณ ศาลแขวงสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

คดีหมายเลขดำที่ 588/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 313/2554 ความแพ่ง
นางเรณู แสงสุวรรณ ที่ 1 นางวรรณี พรหมคง ที่ 2 นางเอื้ออารีย์ มีบุญ ที่ 3 นางราตรี มณีรัตน์ ที่ 4 โจทก์
บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด จำเลย

คดีนี้ สืบเนื่องมาจาก ชาวบ้านในตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองหิน ด้วยการระเบิดหิน "เขาคูหา" โดยมีชาวบ้าน รวม 4 ราย ได้ยื่นฟ้องคดีต่อ บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ต่อศาลแขวงสงขลา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 เรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายสำหรับผลกระทบจากการระเบิดหินเขาคูหา ทำให้บ้านร้าว มีฝุ่นละออง มีเสียงดัง มีหินหล่นใส่พื้นที่ ซึ่งต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ศาลแขวงสงขลาได้มีคำพิพากษาโดยสรุปว่า แม้บริษัทจะประกอบกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากยังมีความเดือดร้อนเสียหายเกิดแก่โจทก์ บริษัทย่อมต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้นด้วย โดยพิพากษาให้บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดี โดยกำหนดให้ชดใข้ค่าบ้านแตกร้าวเต็มจำนวนที่ฟ้อง กำหนดให้ชดใช้กรณีที่เกิดฝุ่นละอองทำให้เดือดร้อนรำคาญ แต่ไม่กำหนดค่าเสียหายสำหรับการเกิดเสียงดังทำให้ตกใจ และเกิดความหวาดกลัวว่าหินจะหล่นใส่ ซึ่งโจทก์เห็นว่า ค่าเสียหายในเรื่องเสียงดังและหินหล่นใส่ ที่ทำให้ตกใจและหวาดกลัว เป็นความเสียหายที่เกิดแก่จิตใจที่เกิดขึ้นจริง เป็นความเสียหายทางสุขภาพประเภทหนึ่ง ที่ควรได้รับการชดใช้เยียวยา จึงได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เพิ่ม ส่วนบริษัทจำเลยเองก็ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าได้ประกอบกิจการไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด

คดีนี้ ถือเป็นคดีสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อยู่รอบพื้นที่เหมือง ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากผู้ก่อผลกระทบ แม้ว่า ผู้ประกอบการจะได้ประกอบกิจการภายใต้มาตรฐานที่รัฐกำหนด แต่หากยังมีผลกระทบต่อประชาชนทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอยู่ ผู้ประกอบการย่อมต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น โดยไม่อาจจะอ้างได้ว่า ทำตามมาตรฐานหรือตามกฎหมายแล้ว

ทางศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre: CRC) จึงขอเชิญท่านเข้าร่วมรับฟังและทำข่าวการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนในการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และได้รับการเยียวยาความเสียหายหากการประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่: http://crcthai.blogspot.com/2011/08/blog-post.html
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:      ส.รัตนมณี  พลกล้า 0817725843
                                    เอกชัย  อิสระทะ 0869578081
                                    เรณู  แสงสุวรรณ 0828212106