ชาวบ้านปากมูนยื่นหนังสือถึงผู้ว่าอุบลฯ ค้านปิดประตูเขื่อน ชี้ปัญหาคา 26 ปี กฟผ.ไม่เคยจริงใจแก้ปัญหา
ที่พิเศษ ๐๐๑/๒๕๕๗
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗
เรื่อง : การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
เรียน : ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายเสริม ไชยณรงค์)
สิ่งที่ส่งมาด้วย
: รายงานการรวบรวมข้อมูลงานวิจัย
ฯ โดยคณะอนุกรรมการศึกษาและรวบรวมงานวิจัย ฯ
นับเป็นเวลากว่า ๒๖ ปี ที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล
ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนปากมูล
มาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล ล่าสุด เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗
พวกเราได้เจรจากับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (มล.ปนัดดา ดิษกุล) ในฐานะตัวแทนรัฐบาล
ซึ่งที่ประชุมเจรจาได้เห็นชอบร่วมกันว่าจะแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล
ให้ลุล่วง
ในระหว่างการประสานงานเพื่อแต่งตั้งกรรมการ ฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๙
ตุลาคม ๒๕๕๗ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีหนังสือ ที่ กฟผ.๙๕๔๖๐๕/๕๓๖
เรื่อง : การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยเรียน :ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแจ้งให้ราษฎรในพื้นที่รับทราบ (รายละเอียดทราบแล้วนั้น)
การดำเนินการของการไฟฟ้า ฯ ดังกล่าวนี้
เป็นไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ และที่สำคัญเหตุผลที่อ้างสำหรับการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
ก็ขาดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
และที่สำคัญการเร่งรีบปิดประตูเขื่อนปากมูลเช่นนี้เป็นการกระทำที่สร้างเงื่อนไขทำลายบรรยากาศความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
ต่อพฤติกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ พวกเรา มีความเห็น ดังนี้
๑. ปีนี้เขื่อนปากมูลได้เริ่มเปิดประตูระบายน้ำ
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ถึงวันนี้ (๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗)
เป็นเวลา แค่ ๒ เดือนเศษ ในขณะที่ข้อสรุปสุดท้ายว่าจะเปิด ๔ เดือน
การเปิดประตูระบายน้ำในปีนี้ก็ยังไม่ครบตามกำหนดจึงยังไม่มีความชอบธรรมใด ที่จะอ้างเพื่อปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
๒. ข้ออ้างของการไฟฟ้า ฯ
ที่ต้องการเก็บน้ำไว้สำหรับปลูกข้าวในฤดูแล้ง
ก็เป็นข้ออ้างที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการจะลดพื้นที่การทำนาลง
และที่สำคัญขณะนี้ข้าวนาปีก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ข้ออ้างเรื่องการชลประทานจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล
และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่
๓. ทุกความพยายามของการไฟฟ้า ฯ
ที่ทำมาในอดีตและปัจจุบัน คือการคิดแต่จะปิดประตูเขื่อนปากมูล
ซึ่งไม่เคยมีครั้งใดเลย ที่การไฟฟ้า ฯ
คิดว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ระยะเวลาที่เนิ่นยาวมาถึง ๒๖ ปี
คือผลงานความอัปยศ ที่ประจานธาตุแท้การไร้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้า ฯ ได้อย่างดี
ที่สำคัญในขณะที่ รัฐบาล หน่วยงานอื่น และภาคส่วนต่าง ๆ
กำลังหารือและสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การไฟฟ้า ฯ
ก็ไม่สำนึกคิดแต่จะทำลายบรรยากาศและสร้างเงื่อนไขอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศที่ดีในการประสานงานและร่วมมือกันเพื่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านตามนโยบายของรัฐบาล ในการคืนความสุขให้ประชาชน และที่สำคัญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
ในฐานะพ่อบ้านที่ต้องดูแลความสงบสุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน
พวกเราสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล
จึงใคร่ขอเรียนท่าน กรุณาดำเนินการ ดังนี้
๑. ให้จังหวัดอุบลราชธานีประสานงานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ให้ยกเลิกการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลที่จะมีขึ้นในวันนี้ไปก่อน
( ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗)
๒. ให้จังหวัดอุบลราชธานีประสานงานไปยังรัฐบาล
ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยเร็ว
เพื่อจะใช้เป็นกลไกหลักในการตัดสินใจใด ใด
เกี่ยวกับเขื่อนปากมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
๓. ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว
ให้ทางจังหวัดอุบลราชธานี ได้กรุณาประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล ให้ยุติการดำเนินการใด ใด ไว้ก่อน
เพื่อจะได้ไม่เป็นการทำลายบรรยากาศความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ ในการดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด
ควรเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างพวกเรากับทางรัฐบาล อย่างเคร่งครัด ด้วย
พวกเรายืนยันว่า
การตัดสินใจปิดประตูเขื่อนปากมูล ในครั้งนี้
มีความผิดปกติที่บ่งชี้ถึงความเร่งรีบร้อนรนอย่างมาก (ประชุมวันที่ ๙
ตค.ออกหนังสือปิดเขื่อนวันที่ ๙ ตค.) อันน่าเชื่อได้ว่านี่คือการท้าทายอำนาจของรัฐบาล
และอำนาจ คสช. อย่างชัดเจน
ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ชาวบ้านปากมูน
จัดการชุมนุมเพื่อนำไปสู่การเผชิญกับรัฐบาล และ คสช. ซึ่งการไฟฟ้า
ฯ จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ซึ่งพวกเราหวังว่าทางจังหวัดอุบลราชธานี
จะเข้าใจและไม่ตกเป็นเครื่องมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ในครั้งนี้
ท้ายนี้
พวกเรายังหวังว่าจังหวัดอุบลราชธานี จะยืนยันและนำเอาแนวทางในข้อสรุปเมื่อวันที่ ๗
ตุลาคม ๒๕๕๗ (เห็นชอบที่จะแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหา) ที่รัฐบาลได้ตกลงร่วมกันกับชาวบ้าน
เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดพิจารณาดำเนินการ
โดยเร่งด่วนด้วย
ขอแสดงความนับถือ
สมปอง เวียงจันทร์
(นางสมปอง เวียงจันทร์)
ตัวแทนสมัชชาคนจน
กรณีเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม
จันทรา ดวงคำ
(นายจันทรา ดวงคำ)
ตัวแทนสมัชชาคนจน
กรณีเขื่อนปากมูล อำเภอสิรินธร
มาลี ตามสีวัน
(นางมาลี ตามสีวัน)
ตัวแทนสมัชชาคนจน
กรณีเขื่อนปากมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร
No comments:
Post a Comment