About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Sunday, October 26, 2014

ชาวกัมพูชาประท้วงบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่จากไทยไม่จริงใจในการแก้ไขข้อพิพาทด้านที่ดินที่เรื้อรังในกัมพูชา



 (25 ต.ค. 57) เกาะกงกัมพูชา – กว่าแปดปีที่ผ่านมาเกษตรกรในสามหมู่บ้าน กว่า 300 คนในจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ต้องถูกยึดที่ดินไปอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อนำไปทำแปลงปลูกอ้อยขนาดเกือบ 1.2 แสนไร่ ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นบริษัทในกัมพูชาที่มีอิทธิพลทางการเมือง และอยู่ใต้การควบคุมของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (เคเอสแอล) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่จากไทย และมีการจัดทำสัญญาซื้อขายเป็นการเฉพาะกับบริษัท Tate & Lyle PLC จากสหราชอาณาจักร ในปัจจุบัน เคเอสแอลได้พยายามแก้ไขข้อพิพาทย้อนหลัง โดยจัดประชุมกับชาวบ้าน 20 กว่าคนในวันนี้......

ศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชน (Community Legal Education Center) ซึ่งเป็นตัวแทนด้านกฎหมายให้กับชุมชนในการฟ้องคดีกับศาลกัมพูชา ร่วมกับ EarthRights ซึ่งให้ความสนับสนุนกับศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชนในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นข้อร้องเรียนต่อเคเอสแอล ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการจัดเตรียมการเจรจาของเคเอสแอล
               
ชาวบ้านได้จัดประท้วงในวันนี้เพราะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา และทางบริษัทไม่ได้มีข้อเสนอที่จะเจรจาเกี่ยวกับที่ดินของพวกเขาแต่อย่างใด แอน เฮยา (Ann Heiya) หนึ่งในตัวแทนของชุมชนแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับวิธีการทำงานของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย โดยเขาระบุว่า

คนในชุมชนของเราต่อสู้เป็นเวลานานเพื่อใช้กฎหมายเอาผิดกับขโมยที่ยึดที่ดินเราไป

พวกเขาต้องการให้ข้อพิพาทยุติลง แต่ปัญหาจะไม่จบจนกว่าทางบริษัทยินยอมนั่งลงเจรจาอย่างเปิดเผยกับเราทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาแนวทางดีสุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับพวกเราแล้ว การเจรจาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของเงิน แต่ยังต้องเกี่ยวข้องกับที่ดินของเราด้วย

เราหวังว่าทางบริษัทที่เกาะกง เคเอสแอล และบริษัท Tate & Lyle จะรับฟังข้อเรียกร้องของเรา และตกลงเจรจากับเราและทนายความของเรา

เตสซา เกรกอรี (Tessa Gregory) กล่าวว่า เราได้เชิญให้เคเอสแอลเข้าร่วมในการประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยกับสำนักงานกฎหมาย Leigh Day ศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชน ตัวแทนของชุมชน และบริษัท Tate & Lyle เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเคเอสแอลจะเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นั่งลงและหาแนวทางยุติข้อพิพาทอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านส่วนใหญ่เกือบทั้ง 200 ครอบครัวที่ต้องการได้ที่ดินของตนคืนมาทั้งในหมู่บ้าน Trapeang Kandol, Chhouk และ Chikor ในอำเภอสะเลออัมบึล จังหวัดเกาะกง กลับไม่ได้รับเชิญให้ไปประชุมกับบริษัท นอกจากนั้น ทนายของชุมชน ศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชน และสำนักงานกฎหมาย Leigh Day จากลอนดอน ก็ไม่ได้รับเชิญให้ไปประชุมเช่นกัน ในขณะที่มีสื่อมวลชนทั้งไทยและกัมพูชาเข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจา

ข้อพิพาทที่ยืดเยื้อเป็นผลมาจากการให้สัมปทานที่ดินด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Economic Land Concession) กับโครงการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาล ส่งผลให้มีการอพยพของประชาชนจำนวนมาก สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต และก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ผู้ชำนาญการอิสระหลายท่านรวมทั้งที่มาจากสำนักงานองค์การสหประชาชาติแห่งกัมพูชาได้เข้ามาจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการกว้านซื้อยึดครองที่ดินครั้งนี้ ทางสำนักงานกฎหมาย Leigh Day จากลอนดอนได้รับเป็นตัวแทนว่าความให้ชาวบ้าน 200 ครอบครัวในการฟ้องคดีต่อบริษัท T&L ต่อศาลในอังกฤษ และเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยคดีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2557 เคเอสแอลยังได้รับเชิญจากศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชน และสำนักงานกฎหมาย Leigh Day ให้เข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยคดีครั้งนี้ ซึ่งอาจมีขึ้นในกัมพูชาหรือไทย

วีรัก เยง (Virak Yeng) ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชนกล่าวว่า หลายครอบครัวที่ถูกยึดที่ดินไปเมื่อปี 2549 ตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก แต่พวกเขายังมุ่งมั่นที่จะใช้การรณรงค์ด้านกฎหมายและการกดดันอย่างอื่น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและยุติธรรม

เคเอสแอลยังถูกร้องเรียนผ่านกลไกในประเทศไทย กล่าวคือชาวบ้าน 200 ครอบครัวซึ่งมีตัวแทนเป็นศูนย์กฎหมายศึกษาเพื่อชุมชนจากการกัมพูชาและด้วยความสนับสนุนจาก EarthRights International ได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อกสม.เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 โดยกล่าวหาว่าทางเคเอสแอล โดยผ่านบริษัทลูกในกัมพูชา ได้รับสัมปทานในที่ดินซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยสัมปทานที่ดินด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกัมพูชา และกฎหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กสม.ได้รับเป็นกรณีเพื่อการสอบสวนหมายเลข 58/2553 และในเดือนกรกฎาคม 2555 กสม.ได้เปิดเผยผลการสอบสวนในเบื้องต้นซึ่งระบุว่า เคเอสแอลละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยผ่านสัมปทานที่ดินด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กสม.จะมีแถลงการณ์ในขั้นสุดท้าย

เดเนียล คิง (Daniel King) ผู้อำนวยการกฎหมายในภูมิภาคแม่น้ำโขงของ ERI กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าน่าจะได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเป็นผลจากการกระทำของบริษัทเคเอสแอลจากไทย ในตอนนี้ ทางเคเอสแอลควรยอมรับความรับผิดชอบอย่างเปิดเผย และหาทางแก้ไขข้อพิพาทโดยผ่านกระบวนการที่เปิดเผยและโปร่งใสโดยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกคนมีส่วนร่วม 

ข้อมูลเพิ่มเติม  http://www.boycottbloodsugar.net/
.........................
ที่มาภาพ :  เฟซบุ๊ก Sokha Sek

No comments:

Post a Comment