About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Thursday, September 4, 2014

กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดยื่นหนังสือถึงทหาร-ขรก. แจงไม่ร่วมประชุมทำเอ็มโอยูลดข้อขัดแย้งเหมืองแร่ทองคำ เหตุร่างฯไม่ผ่านการยอมรับของชาวบ้านผู้รับผลกระทบ


           ที่มาภาพ : กรุงเทพธุรกิจ http://bit.ly/1lFKG37


.......................................................................
รายละเอียดหนังสือมีดังนี้

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง การประชุม วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรียน พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย
ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

ตามที่ท่านได้เชิญกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน เข้าร่วมการประชุมในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะของบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำบันทึกข้อตกลงนี้มาใช้เป็นแนวทางในการที่จะลดข้อขัดแย้งและป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวงนั้น

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน ขอชี้แจงว่า การปฏิบัติการของทหาร (คสช.) ในพื้นที่ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ๔ ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่าง ผู้ประกอบการเหมืองทองคำ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ๖ หมู่บ้าน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพยายามรวบรัดที่จะจัดประชุมเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ และในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ มาแล้วถึงสองครั้ง

แต่การจัดประชุมทั้งสองครั้งที่จัดขึ้นก็ไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อหารายละเอียด และยังไม่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ๖ หมู่บ้าน

ดังนั้นแล้ว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗

การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ และการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำทั้ง ๖ หมู่บ้าน และจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้

๑. การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่หน่วยงานราชการได้ทำขึ้น จะต้องเป็นไปตามรายละเอียด ขั้นตอน และเงื่อนไข ในเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ๖ หมู่บ้าน เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ประชาชนทั้ง ๖ หมู่บ้าน ได้ลงมติเห็นชอบแล้ว (ดังเอกสารที่แนบมานี้) และจะต้องเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวให้ประชาชนทั้ง ๖ หมู่บ้านได้พิจารณาอย่างทั่วถึง และเปิดเผยให้เป็นข้อมูลสาธารณะ

๒. การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีความถูกต้องและชอบธรรม โดยยึดหลักสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ๖ หมู่บ้าน

ดังนั้น กระบวนการในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีการจัดประชาคม ๖ หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน ๖ หมู่บ้าน เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาในร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง ๖ หมู่บ้าน

เมื่อตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากประชาชน ๖ หมู่บ้าน ได้พิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว จะต้องมีการจัดประชาคม ๖ หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนทั้ง๖ หมู่บ้าน เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงฯ

ในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องมีการจัดประชาคม ๖ หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน ๖ หมู่บ้าน เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง ๖ หมู่บ้าน

แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เนื้อหาในบันทึกข้องตกลงฯ ไม่ตรงตามเอกสารประชาคมฯ ดังที่กล่าวในข้างต้น ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวมิชอบ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ในกรณีที่หน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงฯ ที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารประชาคมฯ ไปใช้ในการกระทำการใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ

และ หากผู้ใหญ่บ้าน ๖ หมู่บ้าน หรือข้าราชการในท้องถิ่น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้ โดยทางกลุ่มฯ ขอย้ำอีกครั้ง ให้ท่านดำเนินการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำตามขั้นตอนในข้างต้นนี้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำจะต้องยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบทั้ง ๖ หมู่บ้าน ดังนั้นทุกกระบวนการในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาฯ จะต้องเริ่มจากการให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนได้พิจารณาและได้ตัดสินใจผ่านการทำประชาคมเพื่อลงมติในการดำเนินงานทุกขั้นตอน เท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์)

เลขานุการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน

No comments:

Post a Comment