About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Sunday, March 22, 2015

เครือข่ายภาคประชาชนอีสาน หนุนกฎหมายรายงานมลพิษอุตสาหกรรม



(ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)
ขอนแก่น : วันที่ 19 มี.ค.58 เวลาตั้งแต่ 09.00 น.- 15.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดเวที "สัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ กรณี ปัญหามลพิษและการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ขึ้น ที่ห้องประชุมภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่นโฮเตล โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ  ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม อาทิ พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี, เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย, นิคมอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น, โรงงานไฟฟ้าชีวมวล จ.สุรินทร์, โรงงานยางพารา จ.ชัยภูมิ และอุตสาหกรรมเกลือ จ.นครราชสีมา ฯลฯ จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมและอภิปรายแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง
โดยนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า จากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพบว่าในพื้นที่อีสานกำลังจะมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 4 หมื่นโรง ในขณะที่ฝ่ายทุนและรัฐได้ร่วมมือกันผลักดันโครงการต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมที่รัฐต้องเตรียมไว้ เปิดพื้นที่ให้ต่างชาติเข้ามาเช่าปลูกป่าโดยการไล่ชาวบ้านออกจากป่า การจัดการน้ำก็จะฟื้นโครงการโขงเลยชีมูล ด้านเหมืองแร่จะมีเหมืองถ่านหินลิกไนต์เพื่อเอามาใช้ในโรงไฟฟ้า รวมทั้งใต้ดินก็จะขุดเจาะปิโตรเลียมและโปแตชขึ้นมา ซึ่งโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษขึ้นตามมามากมาย  
"ในสถานการณ์ที่เป็นปรกติ ก็คือตอนที่ไม่มีการรัฐประหารเราจะมีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งชาวบ้านก็จะใช้รัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิของเรา นอกจากนี้ก็มีการใช้กระบวนการยุติธรรม เช่นฟ้องศาลปกครอง การยื่นหนังสือค้านในระดับพื้นที่ และการทำข้อมูลชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือการต่อสู้กับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน"
ด้านนางสาวเพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเสนอให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็น กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) การลดความเสี่ยงของชุมชนจากปัญหามลพิษ และการผลักดันให้มีการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมในอนาคต โดยกล่าวว่า เรากำลังผลักดันให้มีพ.ร.บ.รายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่า PRTR  ซึ่งพื้นที่ที่โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่แล้วกฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์ต่อเขามาก ซึ่งจะมีกลไกในการควบคุม ชาวบ้านจะเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้กระบวนการโปร่งใสมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมก็จะนิสัยดีขึ้น และเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานราชการนำข้อมูลไปประเมินความเสี่ยง ในพื้นที่ที่ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ว่าควรจะอนุญาตให้โรงงานลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นไหม หรือถ้าจะมีควรตั้งพื้นที่ไหนถึงจะเหมาะสม
"เราไม่ควรปล่อยให้ประเทศเราเต็มไปด้วยมลพิษ โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าดินน้ำอากาศที่เราอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อยู่มีสารพิษอะไรยังไงบ้าง ถึงเวลาจริงๆ ที่เราต้องผลักดันกันในเรื่องนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวควบคุมอย่างหลายๆ อย่างทำให้คนอยู่ใกล้โรงงานปลอดภัยมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายอุตสาหกรรมก็จะสามารถเรียกร้องให้มีการประเมินความเสี่ยง หรือว่าความเหมาะสมของพื้นที่นั้นว่าควรจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่"
ในส่วนของเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน โดยนางสาวณัฐภรณ์  แสงโพธิ์ ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง กล่าวว่า ตนและชาวบ้านในพื้นที่ได้ประสบกับปัญหาความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 10 ปีที่ปล่อยมลพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาน้ำเสีย ทำให้ลำห้วยสาธารณะกลายเป็นคลองระบายน้ำเน่าของโรงงาน ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดินเสีย ทำนาไม่ได้ผล น้ำฝนและน้ำใต้ดินใช้ไม่ได้ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาฝุ่นละออง และกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการเจ็บปวดตามมา เมื่อทนไม่ไหวชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา จึงมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย และลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้

"กฎหมายเกี่ยวกับรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ถ้ามีการออกมาจริงก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขปัญหาอะไรโรงงานก็เมินเฉย พอชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องก็หาว่าวุ่นวาย"

No comments:

Post a Comment