About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Friday, January 16, 2015

ประมงเรือเล็กระยองยัน  ไม่เจรจารับเงินชดเชยน้ำมันรั่ว หาก บ.พีทีทีจีซี ไม่ทำแผนฟื้นฟูทะเล


ศาลระยองไกล่เกลี่ยคดีน้ำมันรั่วไม่เป็นผล ชาวบ้านยันไม่คุยเรื่องเงินชดเชย หากบริษัทฯ ไม่จริงใจทำแผนฟื้นฟูทะเล ชี้แผนฯเดิมทำร่วมหน่วยงานรัฐเน้นแก้ท่องเที่ยว ไม่สนใจขจัดมลพิษ ศาลนัดหน้า 13 มี.ค.

(ศูนย์ข้อมูลชุมชน)
วันที่ 16 ม.ค. 58 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดระยอง นายสรุพงค์ ไกรสุวรรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยองออกนั่งไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก ระหว่างโจทก์ สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง พร้อมชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลพื้นที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 56  รวม 429 ราย ซึ่งยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายและขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู กับ จำเลย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (พีทีทีจีซี) ในฐานะผู้ก่อมลพิษ
นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า การไกล่เกลี่ยในวันนี้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและชาวบ้านแต่ละชุมชนเข้าเจรจากับฝ่ายจำเลย โดยชาวบ้านต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลก่อนการเจรจาเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัว ขณะที่ฝ่ายจำเลย บริษัท พีทีทีจีซี ระบุว่า การฟื้นฟูทะเลนั้น บริษัทฯมีแผนการและได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยราชการอยู่แล้ว และเห็นควรให้เจรจาเรื่องค่าเสียหายก่อน  อย่างไรก็ดีชาวบ้านยังยืนยันตามเจตนารมณ์เดิม คือ หากจะมีการพูดคุยเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตน จะต้องมีการพูดคุยเรื่องแผนการฟื้นฟูทะเลที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรอย่างแท้จริงก่อน  ศาลจึงนัดให้มีการไกล่เกลี่ยครั้งที่สอง ในวันที่ 13 มี.ค. 58 เวลา 9.00 น. โดยให้จำเลยนำแผนการฟื้นฟูทะเลที่ทำร่วมกับหน่วยงานราชการมาร่วมเจรจาในครั้งหน้าด้วย
ด้านนายไพบูลย์ เล็กรัตน์ แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน โจทก์ในคดี กล่าวว่า  เราเห็นว่าแผนฟื้นฟูทะเลระยองซึ่งบริษัทฯดำเนินงานร่วมกับหน่วยราชการนั้น มุ่งเน้นฟื้นฟูแต่การท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดเป็นหลัก โดยไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาทรัพยากรทะเล โดยเฉพาะตะกอนน้ำมันที่ยังตกค้างเป็นสารพิษในธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนหลักคิดการฟื้นฟูมามุ่งเน้นที่การฟื้นฟูทะเลก่อน  หากทรัพยากรทะเลกลับมาสมบูรณ์ การท่องเที่ยวก็จะดีตามมา ส่วนเรื่องค่าเสียหายซึ่งทางบริษัทฯพยายามให้เจรจาก่อนนั้น  เราเห็นเป็นเรื่องรอง เพราะชาวบ้านและชาวระยองจะเดือดร้อนยิ่งกว่าถ้าไม่สามารถฟื้นฟูทรัพยากรทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ได้
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ชาวบ้านจึงได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย โดยมีแนวทางคร่าวๆในการฟื้นฟู คือ หนึ่ง ต้องมีการสำรวจและจัดเก็บตะกอนน้ำมันที่ยังตกค้างตามร่องน้ำและแนวปะการังให้หมดก่อน  สอง ควรมีกระบวนการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบให้การฟื้นฟูทะเล เช่น การปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมทางมลพิษ  สาม เสนอให้มีการปิดอ่าวโดยห้ามเครื่องมือประมงอวนลาก และคราดหอยซึ่งจะลากเครื่องมือไปตามผิวหน้าดิน ทำให้ตะกอนน้ำมันกระจาย สี่ เสนอให้ประกาศเขตควบคุมพิเศษทางมลพิษซึ่งห่างจากชายฝั่งไป 20 ไมล์ทะเล  จากนั้นจึงค่อยดำเนินการฟื้นฟูอย่างจริงจัง เช่น การสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ฯลฯ ต่อไป
สุดท้าย เรายังยืนยันให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำเงินจากผลกำไรโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีของบริษัทฯมาใช้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยไม่ควรนำภาษีของประชาชนมาใช้ เพราะผู้ทำให้เกิดความเสียหายควรเป็นผู้จ่ายนายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ที่มาของคดีดังกล่าว สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลออกทะเล พื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.  56  รวม 429 ราย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ (คดีแพ่ง) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง (คดีปกครอง) ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ความแพ่ง และศาลปกครองระยอง  ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา โดยได้ขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพโดยประมาณกว่า 400 ล้านบาท* และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว โดยให้บริษัทฯจัดสรรงบประมาณสู่กองทุนฯคิดเป็นร้อยละ 10 ของกำไรเฉลี่ยต่อปี (บริษัท พีทีทีจีซี มีกำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 30,000 ล้านบาท



* หมายเหตุ: ยอดความเสียหายตามฟ้องดังกล่าวยังไม่แน่นอน แต่เป็นความเสียหายประมาณการที่คาดว่าจะฟ้องทั้งหมด

No comments:

Post a Comment