About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Friday, January 23, 2015

แล้วจะเหลือฐานทรัพยากรอะไรเพื่อการปฏิรูปเมื่อแจกสัมปทานเหมืองแร่ให้ต่างชาติไปจนหมด


 
สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์
กลุ่มศึกษาสังคมนิยมธรรมชาติ
21 มกราคม 2558

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ได้เซ็นอนุมัติอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตซให้ 2 บริษัทจากจีน ได้แก่ ไชน่าหมิงต๋า โปแตซ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด พื้นที่ 1.2 แสนไร่ ในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และ บ.โรงปัง ไมนิ่ง จำกัด 4 หมื่นไร่ ในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีอายุการสำรวจ 5 ปี ส่วนบริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียน จังหวัดชัยภูมิ อยู่ในขั้นเตรียมที่พิจารณาอนุมัติประทานบัตรได้เร็วๆ นี้ โดยต้องการให้มีการผลิตแร่โปแตซในประเทศเพื่อลดการนำเข้าโปแตซมาผลิตปุ๋ยปีละ 7 แสนตัน หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติปุ๋ยจะมีส่วนผสม 3 ตัว คือ ไนโตรเจน (N ) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ดังนั้น การที่ไทยมีผลผลิต 1 ตัวก็จะต่อรองในการซื้อตัวอื่นๆ ลงได้อีก โดยยืนยันว่าหากมีการผลิตโปแตซในไทยจะทำให้ราคาปุ๋ยภาพรวมถูกลงอย่างต่ำ 10% (ข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 มกราคม 2558 17:55 น.)

อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายและไม่ได้มีประเด็นใหม่อะไรให้น่าตื่นเต้น นอกจากการให้ข้อมูลที่เกินจริงไปบ้าง เพราะแม่ปุ๋ยโปแตซที่เรานำเข้า (ปี 2556) ปริมาณ 6.57 แสนตัน มูลค่า 8.79 พันล้านบาท นั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับแม่ปุ๋ยตัวอื่นๆ ซึ่งรวมๆ กันแล้วประมาณ 3.38 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 4.19 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ที่เรานำเข้าถึงปีละ 2.17 ล้านตัน มีมูลค่าถึง 2.45 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมกับปุ๋ยสำเร็จรูปแล้ว เรานำเข้าทั้งหมด 5.63 ล้านตัน มูลค่า 7.22 หมื่นล้านบาท (ฝ่ายปุ๋ยเคมี  สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร) สูตรปุ๋ยสำเร็จรูปต่างๆ ก็จะเป็นพวก 21-0-0, 16-20-0, 16-16-8, 15-15-15 รวมกันประมาณ 3 หมื่นล้านบาท 

จะเห็นว่ามีเพียง 2 สูตรหลังเท่านั้นที่มีโปแตซเป็นองค์ประกอบ และราคาโปแตซก็แค่ตันละ 300 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ได้แพงมาก การสรุปเอาง่ายๆ ว่าปุ๋ยจะถูกลงถ้ามีเหมืองโปแตซนั้นคงเป็นเรื่องโกหก เพราะสูตร 16-20-0, 21-0-0, 46-0-0 ไม่ถูกลงแน่นอน เพราะไม่มีโปแตซในสูตรนี้เลย อีกอย่างก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับการผูกขาดตลาดปุ๋ยของพ่อค้าปุ๋ยในประเทศด้วย เพราะขาใหญ่ที่มีสัดส่วนการขายรวมกัน 90% และมีบทบาทสำคัญในสมาคมพ่อค้าปุ๋ยก็มีเพียง 3 รายใหญ่ๆ และ 1 ในนั้นก็ไปถือหุ้นในเหมืองโปแตซอาเซียนด้วย ราคาปุ๋ยก็คงเหมือนราคาน้ำมันและก๊าซ จะถูกหรือแพงไม่เห็นจะเกี่ยวกับว่าเรามีก๊าซ หรือมีน้ำมันในประเทศมากน้อยเพียงใด เวลาจะตั้งราคาเราก็ไปอ้างตลาดสิงคโปร์บ้าง ตลาดดูไบบ้างตามเรื่องตามราว น้ำมันเราจึงแพงกว่าต่างประเทศเสียอีก เหมืองทองคำเราก็มี แต่ราคาทองบ้านเราก็ยังแพง และอ้างอิงราคาตลาดโลก โปแตซก็คงเหมือนกัน 

แต่ที่แย่กว่าก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมโปแตซไม่ได้มุ่งเป้าไปที่จะทำให้เกษตรกรมีปุ๋ยราคาถูก แต่เป็นเรื่องการมุ่งเน้นส่งออกเป็นหลัก คิดง่ายๆ ใช้ในประเทศแค่ 7-8 แสนตัน แต่จะมีเหมืองโปแตซไปทำไมมากมาย ถ้าสำรวจและผลิตได้ทั้งหมดตามที่เป็นข่าว เราจะมีโปแตซที่ผลิตจากอุดรธานีปีละ 2 ล้านตัน จากชัยภูมิ 1 ล้านตัน จากสกลนครอีก 1 ล้านตัน รวมแล้วประมาณ 4 ล้านตัน ยังไม่รวมที่ขอสำรวจในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ยโสธร นครพนม หนองคาย มหาสารคาม ถ้าทำไปพร้อมๆ กันก็คงไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เก่งกันนักเรื่องให้สัมปทานต่างชาติมาขุดสมบัติขาย การอนุมัติให้นายทุนต่างชาติมาสำรวจและผลิตแร่จึงเป็นเรื่องของสันดานรัฐบาลทุกรัฐบาลที่สนับสนุนนายทุนเหมืองตลอดมา เพียงแต่ว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จและไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใคร และเท่าที่ติดตามการทำงานมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็ไม่เห็นว่าจะมีแนวคิดใหม่ในการจัดการฐานทรัพยากรที่เป็นธรรมตามที่คุยโม้โอ้อวดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย เห็นได้จากการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 การจัดทำแผนแม่บทป่าไม้เพื่อไล่คนจนออกจากที่ดินทำกินซึ่งพิพาทกับป่าไม้ การให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่แก่นายทุนต่างชาติ ทั้งโปแตซ ทองคำ เหล็ก ทองแดง ฯลฯ โดยอ้างความจำเป็นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและไม่เคยคำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน

บริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ นั้น เคยได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว ตั้งแต่สมัยนายพินิจ จารุสมบัติ เป็น รมว.อุตสาหกรรม ยุครัฐบาลทักษิณ 1 ภายใต้ความร่วมมือสมาคมการค้าไทย-จีน แต่คาดว่าอาชญาบัตรสำรวจแร่น่าจะหมดอายุ เพราะให้ไปแล้วกลับไม่ยอมสำรวจ คงไม่อยากเสียเงินหากไม่มั่นใจว่าจะได้ทำเหมืองจริงๆ ด้วยอาจไม่แน่ใจในนโยบาย และ พ.ร.บ.แร่ฉบับเดิมที่เป็นอุปสรรคเพราะมีขั้นตอนมากมายก็เป็นได้ และครั้งนี้รัฐบาลก็ยังใจดีให้สำรวจใหม่ในพื้นที่เดิมอีกรอบ คราวนี้ถ้าลงมือสำรวจจริงก็คงเพราะมั่นใจว่ารัฐจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสถานการณ์ความสอดคล้องกับร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าพิจารณาโดย สนช. ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ปรับปรุงให้การอนุมัติ อนุญาตเหมืองแร่ได้ง่ายดายกว่าเดิมมาก อีกทั้งไม่ต้องผูกพันกับกฎหมายอื่นๆ ในหลายๆ กรณี ส่วนพื้นที่ด่านขุนทดนั้นอยู่ในเขตเชื่อมต่อกับเหมืองแร่โปแตซอาเซียนของรัฐบาล และคาดว่าจะมีความพยายามทำให้พื้นที่ด่านขุนทด (โคราช) หนองบัวโคก บำเหน็จณรงค์ (ชัยภูมิ) เป็น Chemical Complex ขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเกลือ โปแตซ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตามความฝันของนักลงทุนทั้งหลายที่อยู่ในแวดวงนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ที่มีรายชื่ออยู่เบื้องหลังการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาตลอดตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ 1-2
นายสมหมาย ภาษี เคยเป็นประธานกรรมการบริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด (มหาชน) และมีส่วนสำคัญในการจดทะเบียนบริษัท ซิโน-ไทย โปแตซ ของนายเหยียน ปิน ที่ประเทศฮ่องกงและพยายามผลักดันให้นายเหยียน ปิน ยื่นซื้อหุ้นร้อยละ 49 ในบริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียนฯ โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546 นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.อุตสาหกรรมขณะนั้นได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อขอความร่วมมือจัดส่งบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถทางการเงินการคลังเพื่อช่วยบริหารงานด้านระดมเงินลงทุนและหาแหล่งเงินกู้ให้กับเหมืองโปแตซอาเซียนฯ และนายสมหมาย ภาษี ก็ได้รับการแต่งตั้ง ในร่างสัญญาเข้าจองซื้อหุ้นระหว่างบริษัท เหมืองแร่โปแตซ กับ ซิโน-ไทย โปแตซ ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 มีการเอื้อประโยชน์ให้กับ นายเหยียน ปิน อย่างมหาศาล ทำให้รัฐบาลไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมาก (ข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 31 มกราคม 2549 20:39 .) เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในช่วงนั้นและเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ต้องหยุดชะงักลงเมื่อนายเหยียน ปิน ถอยและรัฐบาลทักษิณสิ้นอำนาจเมื่อปี 2549

เมื่อตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557) พบว่า มีจำนวน 28 ราย แยกเป็น ไทย 19 ต่างด้าว 9 รวม 16,763,373 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 1,676,337,300 บาท โดยผู้ถือหุ้นไทย ได้แก่ กระทรวงการคลัง บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท เทพารักษ์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด เป็นต้น ส่วนผู้ถือหุ้น ต่างชาติ ได้แก่ บริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด (ญี่ปุ่น) เทมาเสค โฮลดิ้งส์ (ไพรเวท) ลิมิเตท (สิงคโปร์) บริษัท กาเลนก้า จำกัด (บริติช เวอร์จิน) บริษัทอัลกรอรี่ ไฟแนนซ์ ลิมิเต็ด จำกัด (บริติช เวอร์จิน) พี ที พีโทรคีเมีย กรีซิค (เพอซีโร) (อินโดนิเซีย) เป็นต้น สัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในปัจจุบันมี 4,121,400 หุ้น มูลค่า 412,140,000 บาท หรือ 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/34685-%E0%B8%B7news04_34685.html) และนายสมหมาย ภาษี ที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่โปแตซแห่งนี้มาตลอด ก็ไม่ได้ไปไหน แต่อยู่ในสถานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลปัจจุบัน
ตลอดในช่วง 10 ปีมานี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจีนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่แทบทุกประเภท ทั้งเหล็ก ทองแดง ถ่านหิน และโปแตซ แม้กระทั่งโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี ของ บ. APPC ที่ บ.อิตัลไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าจะขายหุ้นให้จีน นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกฯ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หายใจเข้าออกเป็นเหมืองโปแตซ ไปพูดเรื่องอะไรที่ไหนก็ไม่ลืมที่จะบอกว่าต้องทำเหมืองแร่โปแตซให้ได้ ส่วนนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรมนั้น ก็เคยเป็นกรรมการบริษัทอัคราไมนิ่ง (เหมืองทองคำ จ.พิจิตร) งานนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าทำในสิ่งที่คุ้นเคยและทำตามบัญชานาย ประชาชนเองก็ไม่ทราบว่านายที่อยู่ในรัฐบาลได้ไปเจรจากับรัฐบาลจีนเมื่อปีที่แล้วนั้น มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเหมืองแร่และอื่นๆ เอาไว้อย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ รัฐมนตรี 3 คน ในรัฐบาลนี้ ได้แก่ รองนายกฯ เศรษฐกิจ รมว.คลัง และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับวงการเหมืองแร่

การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นสุข เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั้นคงไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะบุคคลที่วนเวียนโลดแล่นอยู่ในวงราชการระดับสูง การเมือง และการบริหารประเทศนั้นมีแต่คนหน้าซ้ำ คนเหล่านี้จึงมีแต่แนวคิดเดิมๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป เป็นนายหน้าของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งของไทยและต่างชาติ อ้างวาทกรรมเดิมๆ “ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ” ผู้คนเหล่านี้ผูกขาดการพัฒนาประเทศมานานมาก นานจนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือยึดอำนาจเราก็หนีไม่พ้นหน้าคนพวกนี้ คนเหล่านี้ไม่เคยเชื่อเรื่องข้อจำกัดของการพัฒนา หรือขีดจำกัดของความเจริญ คิดแต่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านเดียวซึ่งสวนทางกับข้อมูลด้านปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของโลกที่มีแต่เลวร้ายลงทุกวัน เราไม่สามารถพัฒนาไปได้ตลอดรอดฝั่งภายใต้แนวคิดเรื่องการเติบโตของทุนและความเจริญอย่างไร้ขีดจำกัดภายใต้ระบบนิเวศโลกอันบอบบางและซับซ้อน บทเรียนของประชาชนที่เป็นเหยื่อการพัฒนานั้นไม่เคยถูกหยิบยกไปเป็นกรณีศึกษาของรัฐบาลเพื่อหาทางเลือกอื่นๆ ที่สมดุลและยั่งยืนกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกและประเทศไทยในอีก 50 ปี ข้างหน้า ในวันที่ปิโตรเลียม แร่ ป่า แหล่งน้ำ ที่ดิน และท้องทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ ไม่เหลืออะไรแล้ว 

หากการพยากรณ์ตามแบบจำลองต่างๆ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นจริงดังที่คาดการณ์ เราคงต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่ราบต่ำ รวมทั้งที่ราบภาคกลางไปเกือบหมด กรุงเทพฯ อาจจะเป็นเมืองในตำนานที่จมอยู่ใต้น้ำ แต่แผ่นดินที่ยังคงมีที่ราบกว้างใหญ่ ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว มีศักยภาพรองรับผู้คนที่หนีตายจากภัยพิบัติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ก็น่าจะเป็น “แผ่นดินอีสาน” น่าเสียดายที่แผ่นดินแห่งอนาคตนี้อาจจะถูกทำให้กลายเป็นทะเลทรายที่เต็มไปด้วยมลพิษจากเหมืองแร่ กากสารพิษอุตสาหกรรม ดินเค็ม น้ำเค็ม และที่ดินที่ยังคงเหลือให้เพาะปลูกได้ก็มีนายทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่คนเป็นเจ้าของ อันเป็นผลจากการตัดสินใจเชิงนโยบายของกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ที่เสวยสุขและตายไปก่อนที่จะเห็นหายนะในอนาคต

หลวงตามหาบัว อริยบุคคลแห่งแผ่นดินอีสาน ได้เคยเทศน์เอาไว้เกี่ยวกับเรื่องดินเค็มน้ำเค็มภาคอีสานว่า ไปขุดบ่อน้ำ เจาะบาดาลที่ไหนก็เค็ม ได้ข่าวว่าเขาจะมาเจาะทำเหมือง เอาเกลือ เอาแร่ใต้ดินขึ้นมา ต่อไปคนอีสานจะไม่มีแผ่นดินอยู่ เพราะดินจะเค็ม น้ำจะเค็ม ฯลฯ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้เตือนสติเอาไว้นานมาแล้ว ม.ร.ว.ปรีดียาธร เองก็เป็นลูกศิษย์และเคยบวชที่วัดป่าบ้านตาดเมื่อปี 2529 ก็หวังว่าท่านและพวกจะฟังและพึงสำนึกเอาไว้บ้าง...  



ตารางปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรที่สำคัญ ปี 2551-2555
ปริมาณ : ตัน
มูลค่า : ล้านบาท
สูตรปุ๋ย
2552
2553
2554
2555
2556
ปริมาณ
มูลค่า
ปริมาณ
มูลค่า
ปริมาณ
มูลค่า
ปริมาณ
มูลค่า
ปริมาณ
มูลค่า
แม่ปุ๋ย
46-0-0
2,307,784
23,544
2,121,342
21,824
2,087,879
27,758
2,153,690
30,240
2,170,237
24,483
18-46-0
192,725
2,447
481,343
7,997
395,044
7,939
536,806
10,198
550,257
8,606
0-0-60
158,885
3,336
517,828
6,940
755,120
10,895
586,155
9,825
657,578
8,798
รวม
2,659,393
29,328
3,120,514
36,760
3,238,042
46,592
3,276,650
50,263
3,378,072
41,886
ปุ๋ยสูตร
21-0-0
232,649
1,154
350,023
1,893
276,558
2,047
282,782
2,266
191,674
1,154
16-20-0
335,541
3,501
494,393
5,187
571,528
7,147
549,688
7,587
575,112
6,885
16-16-8
21,974
280
10,795
122
42,736
616
71,223
1,050
102,448
1,345
15-15-15
260,069
3,527
409,488
5,513
379,906
5,691
400,776
6,511
534,378
7,483
อื่นๆ
310,911
4,657
735,882
10,973
1,046,737
16,405
971,813
15,772
857,207
13,505
รวม
1,173,679
13,338
2,052,194
24,451
2,341,138
32,308
2,306,626
33,683
2,260,819
30,372
รวมทั้งหมด
3,833,072
42,666
5,172,708
61,211
5,579,181
78,899
5,583,276
83,947
5,638,891
72,259

ที่มาฝ่ายปุ๋ยเคมี สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร อัพเดทข้อมูล 22 ตุลาคม 2557

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย

No comments:

Post a Comment