About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Wednesday, February 11, 2015

เหตุผล 14 ประการที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-ยมบน-ยมล่าง



(ที่มา เฟซบุ๊ก 'ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น')

1.ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย

2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้

3.ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง

4.การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย

5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง

6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน

7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม

8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น

9.ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุโครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชน อย่างร้ายแรง ซึ่งต้องยกเลิกโครงการโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ อีกมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

10.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้นข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นความเท็จ เพราะเขื่อนไม่ได้ออกแบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด อีกทั้งเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากยกเลิกการผลิตไฟจากเขื่อนทั้งหมดก็ยังมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ

11.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่า 30,000-40,000 ไร่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดหลายล้านต้น ซึ่งไม่มีทางที่จะปลูกป่าทดแทนได้ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ที่ผ่านมามีเพียงการปลูกต้นไม้สร้างภาพแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีสภาพเป็นป่าดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

12.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่ามหาศาลอันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน เป็นการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจน ซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งชาติและคนทั้งโลก

13.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายแก่งเสือเต้น ท่วมทั้งแก่ง ท่วมทั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ท่วมทั้งป่าสักทอง ทำให้หมดอัตลักษณ์ของความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทั้งแก่งเสือเต้นและป่าสักทอง จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยมที่เป็นสมบัติของตนไทยทั้งชาติและคนทั่วโลก

14.เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือสัญญาลักษณ์ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน

No comments:

Post a Comment