‘นิติฯ ม.ทักษิณ’ จับมือ ‘ศูนย์ข้อมูลชุมชน’-หน่วยงานรัฐ
ให้ความช่วยเหลือกฎหมายชุมชนใต้ ดึงนิสิตใกล้ชิดท้องถิ่น - อุดช่องว่างเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
(Community Resource Centre ศูนย์ข้อมูลชุมชน)
วันที่
8
ส.ค. 57 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลชุมชน
(Community Resource Centre : CRC) จัดประชุม ‘โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย’ โดยมีผู้แทนชาวบ้านโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และ ผู้แทนสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลา
เข้าร่วมหารือ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา
หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิในพื้นที่ภาคใต้
ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิในสิ่งแวดล้อม
นายเอกชัย
อิสระทะ โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการประกอบกิจการเหมืองหินปูน
ในพื้นที่ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวว่า
จากประสบการณ์การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรชุมชนที่ผ่านมาพบว่า ในกรณีที่ชาวบ้านหรือชุมชนถูกละเมิดสิทธิจากโครงการของรัฐ
หรือ โครงการเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐ การเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนมักเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เนื่องจากหน่วยงานมักมองว่าเป็นการสร้างความวุ่นวาย ประกอบกับหวาดกลัวอิทธิพลท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่
และต้องหันหน้าพึ่งหน่วยงานกลางในกรุงเทพฯเท่านั้น โอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรมของชาวบ้านมีน้อย
“ตัวอย่าง ผลของการประกอบกิจการเหมืองหินปูนในพื้นที่เขาคูหา ที่ทำให้บ้านเรือนแตกร้าวกว่า
300 หลัง พื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบ แม้จะเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีนาน
แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าฟ้องคดี เพราะไม่รู้ขั้นตอนทางกฎหมาย
ไม่รู้แนวทางการเก็บข้อมูล และไม่มั่นใจว่าหน่วยงานในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับทุนอย่างไร
ฉะนั้นการให้ความรู้แก่ชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเวลานี้เราแทบหาที่พึ่งในพื้นที่ไม่ได้”
นายเอกชัย กล่าว
นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า
ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่า
ปัญหาสำคัญอีกประการในการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อเพื่อพิทักษ์สิทธิของชุมชน
คือ การขาดข้อมูลทางวิชาการ หรือ งานวิจัย เช่น ข้อมูลเชิงคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น
ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินงานทางกฎหมาย
ศูนย์ข้อมูลชุมชนในฐานะองค์กรเอกชนซึ่งดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จึงร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณและหน่วยงานรัฐซึ่งมี
โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอยู่แล้ว
ได้ร่วมมือกันทำงานในด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากในพื้นที่ภาคใต้
เพื่อให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่สามารถเป็นคลังปัญญาและให้คำปรึกษาแก่ชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิการทำกินและการใช้ฐานทรัพยากรได้
“การดำเนินงานทางกฎหมายในหลายคดี แม้ชาวบ้านจะมีศักยภาพเก็บข้อมูลในพื้นที่
เช่น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อทรัพยากร ซึ่งเป็นข้อมูลชั้นดีจากคนในพื้นที่
แต่ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ข้อมูลเหล่านั้นกลับมีน้ำหนักเบา
โดยศาลมักไม่ให้ความเชื่อถือเท่าข้อมูลทางวิชาการ ซี่งภาคเอกชนมีศักยภาพในการจัดหาได้มากกว่า”
ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว
ด้าน
นายศรุต จุ๋ยมณี คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชาวบ้านเป็นพันธกิจของคณะและนโยบายของมหาวิทยาลัย
โดยที่ผ่านมาคณะได้ดำเนินการจัดตั้ง ‘คลินิกกฎหมาย’
เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คลินิกกฎหมายทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา
แต่ไม่สามารถดำเนินงานทางคดีให้ชาวบ้านได้ ดังนั้นหากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชุมชนสามารถดำเนินงานบนความร่วมมือของทุกฝ่ายได้เต็มรูปแบบ
ทั้งงานด้านวิชาการ งานคดี และการเข้าถึงกระบวนการรัฐ ก็จะทำให้ชุมชนมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมในพื้นที่มากขึ้น
โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเองสามารถให้ความช่วยเหลือด้านงานทำวิจัย
การสืบค้นข้อมูล และชี้แนะให้คำปรึกษาได้ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนแล้ว
ยังถือเป็นการสร้างบันฑิตนิติศาสตร์ที่มีจิตสาธารณะและมีทักษะวิชาชีพนอกเหนือไปจากความรู้ในชั้นเรียนจากการทำงานใกล้ร่วมกับชุมชนต่อไปได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การก่อตั้งโครงการดังกล่าวยังรวมถึงการสร้างนักกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ
หรือที่เรียกว่า “Public Interest Lawyers” โดยภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกับคณะนิติศาสตร์จัดหลักสูตรการเสริมสร้างให้นักศึกษาในคณะได้เรียนรู้ปัญหาสังคมที่เป็นรูปธรรม
เพื่อสร้างเสริมจิตสำนึกแก่นักกฎหมายรุ่นใหม่ ให้สนใจทำงานเพื่อสังคม
และเพิ่มนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มากขึ้น โดยจะร่วมกันทำบันทึกความร่วมมือ
(MOU) เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบผลเชิงรูปธรรมต่อไป
No comments:
Post a Comment