About Us

My photo
1518 Soi Jaransaniwong 75 Junction 32, Bangphlad, Bangphlad,, Bangkok 10700, Thailand
The Community Resources Centre Foundation (CRC) is a non-governmental organisation which is committed to protect and promote the Human Rights, Community Right and the Environment. CRC is a watchdog on the implementation of ICCPR and ICESCR. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในการปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ศขช.เฝ้าระวังสถานการณ์ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Tuesday, February 5, 2019


แม่น้ำเทพาที่น่าห่วง
(โดย กานต์ ตามี่ ฝ่ายกฎหมายปกครองมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน)
#สิทธิชุมชนกับการต่อสู้ของภาคประชาชน
----------------------------------------------
แม่น้ำเทพาเป็นลำน้ำสายสำคัญของจังหวัดสงขลา ที่มีต้นน้ำอยู่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี เป็นแม่น้ำที่ก่อกำเนิดชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนอำเภอเทพา อันได้แก่ ชุมชนปากน้ำเทพา ชุมชนพระพุทธ ชุมชนบ้านคลองประดู่ และชุมชนบางหลิง โดยชาวบ้านในแต่ละชุมชนนั้น ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การตกปู ตกหมึก ตกปลา รุนกุ้ง รุนเคย นอกจากนี้ยังมีของขึ้นชื่อของอำเภอเทพาที่ทุกคนจะพลาดไม่ได้ก็คือ กะปิที่ทำจากกุ้งเคย ที่ต้องรุนมาจากแม่น้ำเทพาเท่านั้น แล้วนำมาทำเป็นกะปิ ในแบบภูมิปัญญาชาวบ้านของอำเภอเทพา จนออกมาเป็นของอร่อยเมืองเทพาที่มีชื่อเสียง
แต่นับวันแม่น้ำเทพาก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากการมีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่รุกคืบเข้ามาก่อสร้างอย่างมากหลาย ดังเช่นกรณี โครงการสร้างท่าเทียบเรือของบริษัทหนึ่ง ได้เข้ามาดำเนินการบริเวณแม่น้ำเทพา หมู่ ๔ บ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบอย่างหนักแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม จนไม่สามารถกลับมาเป็นดังเดิมได้
โดยบริษัทนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการสร้างท่าเทียบเรือ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโครงการดังกล่าวมาก่อน จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเทพา และชาวบ้านอำเภอเทพา เพิ่งจะมาทราบว่า บริเวณแม่น้ำเทพา ได้มีบริษัทหนึ่งได้เข้ามาดำเนินโครงการสร้างท่าเทียบเรือแล้ว ชาวบ้านเทพาจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตัวเอง โดยการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐต่างๆ แต่สุดท้ายผลตอบรับแทบทุกครั้ง คือ ไม่มีหน่วยงานใดอยู่ข้างชาวบ้านเลย มันจึงเป็นปัญหาที่ต้องมานั่งทบทวนว่า จริงๆแล้วหน่วยงานรัฐที่ประชาชนหวังพึ่งนั้น ทำงานอย่างสมชื่อข้าราชการหรือไม่
ชะตากรรมของชาวบ้านเทพาก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในเวลาต่อมา ก็ได้มีโครงการขุดปากร่องแม่น้ำเทพาเข้ามาอีก ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๔ ได้มาดำเนินการขุดปากร่องน้ำเทพาในต้นปี ๒๕๖๑ ทั้งๆที่ขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาถึงสามปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ซึ่งการดำเนินการโดยปกติจะดำเนินการขุดลอกในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูจับสัตว์น้ำของชาวประมง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องทำมาหากินกับทะเลในช่วงนั้น แต่ในปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานกลับเลือกดำเนินการในช่วงฤดูจับสัตว์น้ำของชาวบ้าน จึงส่งผลกระทบให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ เนื่องจากน้ำขุ่น สกปรก สัตว์น้ำหนีหายไปหมด ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ อีกทั้งวิธีการขุดลอกยังสร้างความเสียหายให้กับหาดทรายบางหลิงที่ชาวบ้านเทพาใช้ร่วมกันอีกด้วย ชาวบ้านเทพา หมู่ที่ ๔ บ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง จึงต้องออกมาทำการร้องเรียน ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีหน่วยงานใดๆ ออกมาชี้แจ้งเพื่อทำความเข้าใจ และทำป้ายติดประกาศให้ประชาชนรับทราบในภายหลัง
จากการดำเนินการทั้งสองโครงการข้างต้น ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเทพา และชาวบ้านอำเภอเทพา ต้องรวมตัวกันเพื่อฟ้องทั้งสองโครงการเป็นคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยดำเนินการฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกใบอนุญาตและการควบคุมดูแลตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งหมดหกหน่วยงาน ในคดีหมายเลขดำที่ ส.๔/๒๕๖๑ เพื่อให้มีการเพิกถอนโครงการและดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งต่อมาศาลได้เรียกให้บริษัทเจ้าของโครงการเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมด้วย โดยปัญหาของคดีนี้ที่ทั้งสองโครงการเป็นอย่างเดียวกัน คือ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างถูกต้อง ครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการสร้างท่าเทียบเรือ นั้น ยังมีการลงลายมือชื่อที่น่าสงสัย ที่มีทั้งลายมือของคนตายไปแล้ว และลายมือชื่อของคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อยู่เป็นจำนวนมาก ในรายงานการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ถูกอ้างว่า มีคนที่ลงลายมือชื่อเห็นด้วยกับโครงการฯ
คดีประเภทนี้ แม้จะไม่ใช่คดีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย แต่ก็เป็นคดีแรกที่ชาวบ้านเทพาได้ร่วมกันต่อสู้อย่างเข้มแข็ง โดยนำบทเรียนที่เกิดขึ้นกลับมาทบทวนว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่โครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งนับวันยิ่งเข้ามาจ่อประตูบ้านได้อย่างไร เช่น ทางชุมชนควรมีการดำเนินการจัดกิจกรรมในชุมชนอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ เรียนรู้ให้เท่าทันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ถูกหลอก และสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าของโครงการต่างๆ และการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ อยู่เสมอว่า เข้ามาดำเนินการอะไรอีกบ้าง รวมถึงหากมีการคุกคามข่มขู่ จะต้องรีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานเป็นอย่างน้อยหรือเพื่อดำเนินคดีต่อไป ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนในการเข้าร่วมเวทีเรียนรู้แนวทางการต่อสู้ทางด้านกฎหมาย ทางด้านวิธีการจากชุมชนอื่นๆ ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้ชุมชนที่รักและหวงแหนต้องถูกทำลายจนเลือนหายไปกับสังคมที่ถูกปฏิบัติโดยโครงการพัฒนาที่ชุมชนไม่ต้องการ
https://www.facebook.com/CommunityresourcecentreThailand/posts/2088902534557818?__tn__=K-R
 

Thursday, October 1, 2015

ศาลชี้ ‘กฟผ.’ ผิดกม.-ใช้ที่สาธารณะน่าน สร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงไม่ขออนุญาต – สั่งยุติโครงการ


ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษา กฟผ. ผิด รุกพื้นที่สาธารณะต.ดู่ใต้ จ.น่าน สร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กระทบที่ทำกินชุมชน สั่งยุติโครงการ - ทนายย้ำ แม้เป็นหน่วยงานรัฐก็ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมาย

Thursday, September 17, 2015

เมื่อเสรีภาพทางวิชาการของข้าพเจ้าถูกคุกคาม : ภายใต้รัฐ ทุน และบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (โดย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์)


..........................................................................

ข้าพเจ้าคงไม่อ้างถึงอะไรก็ตามที่เป็นบทบัญญัติถึงเสรีภาพทางวิชาการ เพราะเป็นหลักสากลที่เขาปฏิบัติกันทั่วโลก แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำกับข้าพเจ้านั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ การอ้างเพียงแต่ความมั่นคงและต้องรายงานนาย แต่กระทำการข่มขู่ คุกคาม โดยไม่ได้แสดงตัวและไม่จริงใจที่จะเข้ามาพบปะพูดคุยกันก่อน เป็นเรื่องของการไร้มารยาทและขาดจิตวิทยาทางสังคมของเจ้าหน้าที่อย่างร้ายแรง การใช้คำพูด การแสดงท่าที รวมถึงทัศนคติต่อนักศึกษา ชาวบ้าน และข้าพเจ้า ไม่มีความเป็นกัลยาณมิตร มองเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรู เป็นพวกปลุกระดมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเช่นนี้กันทั้งประเทศ ประชาชนจะมีความสุขได้อย่างไร ประเทศชาติจะมั่นคงได้หรือ?

ข้าพเจ้าเพียงไปเก็บข้อมูลตามแผนดำเนินการวิจัยที่ได้กำหนดเอาไว้นานแล้ว เป็นประเด็นวิจัยเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาวะ โดยเฉพาะเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจและการพึ่งตนเองของชุมชน เพื่อที่จะให้ชุมชนได้ตระหนักถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจของตนเอง การพึ่งพาสินค้าต่างๆ จากภายนอก สัดส่วนที่ชุมชนผลิตได้เอง รูปแบบการใช้ฐานทรัพยากรของชุมชน และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลวางแผนร่วมกันของชุมชนในการแก้ปัญหาและทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งในอนาคต 

งานวิจัยนี้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ข้าพเจ้าได้พานักศึกษาลงไปเรียนรู้ชุมชน ให้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเทคนิควิธีการในการเก็บข้อมูลในชุมชนโดยการสัมภาษณ์ ภายใต้รายวิชาที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นภัยต่อความมั่นคงแต่อย่างใด หรือว่าการที่ชุมชนพึ่งตนเองได้นั้น มันกระทบความมั่นคงของใคร? เหมืองแร่จะเกิดหรือไม่เกิด ชุมชนก็ต้องพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเขา ไม่เห็นจะเป็นเรื่องเสียหาย 

ข้าพเจ้ากลับมองว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก พื้นที่เหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งก็จริง แต่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรง และชุมชนที่นี่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายตลอดมา ไม่ว่าจะผ่านรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ การต่อสู้ของชุมชนที่ห่วงกังวลว่าตนเองอาจจะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านตนเองเป็นความชอบธรรม เพราะเหมืองแร่จะไปชอนไชใต้ถุนบ้านเขาซึ่งจะมีการขุดแร่ในพื้นที่หลายหมื่นไร่นั้น เป็นใครก็ต้องวิตกกังวลและย่อมไม่ผิดที่เขาจะคัดค้านโครงการ และที่ผ่านมาไม่ได้มีแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่เข้าไปทำงานวิชาการในพื้นที่ชุมชนเหล่านี้ ตลอดช่วงเวลาที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันคัดค้านเหมืองแร่มา 15 ปี มีนักวิชาการ นักศึกษา ได้มาศึกษาดูงาน ทำวิจัย ฝึกงาน บ่มเพาะประสบการณ์ด้านสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมฯ มากมาย เฉพาะงานวิจัยน่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 เรื่อง ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต หรือจบด๊อกเตอร์ไปก็หลายคน ก็ไม่เห็นว่าจะเกิดปัญหาอะไร 

มีเพียงช่วงปีกว่าๆ มานี้เองที่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านถูกปิดกั้นเสรีภาพในการเรียกร้อง การแสดงออกและการมีส่วนร่วมฯ ด้วยรัฐบาลทหารประกาศ คำสั่งต่างๆ รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้ามาสอดแนมและคุกคามชาวบ้านจนไม่เป็นปกติสุข คนของบริษัทนายทุนเหมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ล้วนเป็นเสมือนพวกเดียวกันที่คอยรายงานการเคลื่อนไหวต่างๆ นานาของกลุ่มที่คัดค้านโครงการต่อผู้บังคับบัญชา จนชาวบ้านรู้สึกถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ความเครียด ความกดดันและความรู้สึกถึงความไม่พึงพอใจเจ้าหน้าที่รัฐจึงมากมายเป็นเท่าทวี นี่หรือคือการคืนความสุขให้ประชาชน

นอกจากนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้ออกระเบียบเรื่องการประชาคมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหม่ ให้เป็นเพียงการชี้แจงข้อมูลโดยไม่ต้องลงมติ และไม่ต้องประชาคมทุกหมู่บ้านในเขตเหมือง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ในค่ายทหาร มีเป้าหมายชัดว่าจัดให้ผ่านๆ ไป สักแต่ว่าได้จัดโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระหรือไม่สนใจว่าใครจะเข้าร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คุ้มกันอย่างแน่นหนาและเข้มงวด เพื่อที่จะดำเนินการให้ได้ด้วยความเรียบร้อย และในขั้นต่อไปก็จะเป็นการขอมติจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคงตามมาด้วยการอนุญาตประทานบัตร หรือการออกใบอนุญาตประกอบการแก่นายทุนในที่สุด คงเป็นการคืนความสุขให้นายทุนอย่างน่าภาคภูมิใจ

เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมของนโยบายเหมืองแร่ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ทุกรัฐบาลล้วนอยากให้มีการทำเหมืองแร่ แต่รัฐบาลนี้ ส่งเสริมสนับสนุนกิจการเหมืองแร่อย่างมัวเมาและบ้าคลั่ง โครงการเหมืองแร่โปแตซซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะภาคอีสานเท่านั้น กำลังสำรวจและยื่นขอประทานบัตรหลายโครงการ คงทยอยได้รับอนุญาตไปเรื่อยๆ ตามแผน น่าจะมีถึง 10 เหมือง ในพื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่ ผลิตแร่โปแตซปีละ 10 ล้านตัน (ทั้งๆ ที่ความต้องการภายในประเทศมีแค่ 8 แสนตัน) มีกากขี้แร่ที่เป็นเกลือเค็มๆ ปนเปื้อนสารเคมีเกิดขึ้นอีกประมาณปีละ 20-30 ล้านตัน และทั้งหมดเป็นเหมืองแร่ใต้ดินที่ตามกฎหมายแร่สามารถชอนไชใต้ถุนบ้านใครก็ได้ถ้ารัฐให้สัมปทานในเขตพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบ้านชาวบ้าน บ้านเศรษฐี วัด โรงเรียน ส่วนราชการ โรงพยาบาล หรือแม้แต่ค่ายทหาร สามารถมุดไปชอนไชเอาแร่ได้หมด และกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาได้ผ่าน ครม. ไปแล้ว กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นคาดว่าจะผ่านการพิจารณาโดย สนช. และประกาศใช้ในที่สุด กฎหมายฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาสาระที่แย่กว่าเดิมเสียอีก เพราะการประกาศเขตเหมืองแร่และการทำเหมืองแร่สามารถทำได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่อนุรักษ์ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติ รวมถึงส่วนราชการสามารถทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในขั้นตอนการประกาศเขตเหมืองแร่ได้เลย โดยที่ภาคเอกชนที่จะมาขอทำแร่ไม่ต้องทำรายงาน EIA ในขั้นตอนขออนุญาตอีก เรียกได้ว่าเอื้ออำนวยประโยชน์กันอย่างที่สุด

ตอนนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่จะดำเนินการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และชุมชน รัฐมีนโยบายที่สวนทางกับสถานการณ์ปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ที่เหมืองทองคำที่จังหวัดเลยและพิจิตร ก็เต็มไปด้วยสารพัดปัญหาทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐเข้ามารับผิดชอบดำเนินการแก้ไข หรือแม้แต่จะกล้าชี้ชัดลงไปว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากเหมือง

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพัฒนาที่พึ่งพาการขุดหาของเก่ามาขายกินนั้นมันจะเป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์อะไร เพราะมันไม่ต้องใช้สมอง ปัญญาหรือความเก่งกาจล้ำเลิศอะไรเลย ของที่อยู่บนดิน คือ แผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ไพศาลอย่างประเทศไทยที่ใครๆ ในโลกก็อยากจะครอบครองนั้น ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าสามารถทำมาหากินและสร้างสรรค์มูลค่าและคุณค่าได้อีกมากมายมหาศาลจวบจนชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืน ถ้าผู้กำหนดนโยบายใช้ปัญญาให้มาก ใช้อำนาจให้น้อย และรับฟังคนอื่นให้มากขึ้น    

ข้าพเจ้าคงคาดหวังมากเกินไปที่คิดว่าบรรษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายจะรู้สึกอับอายและไม่ภาคภูมิใจกับการได้รับสิทธิประโยชน์ หรือการอนุมัติอนุญาตต่างๆ จากรัฐ โดยอาศัยอำนาจ กฎหมาย กลไกที่ไร้ความยุติธรรม ย่ำยีชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคน เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณใช้วิถีทางที่ไม่มีธรรมาภิบาลมาตั้งแต่ต้น แล้วจะอยู่ร่วมกับชุมชนไปอย่างราบรื่นและมีความสุขกันทุกฝ่ายได้อย่างไร  

ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขเลย ไม่คิดว่าประชาชนจะมั่งคั่ง ประเทศชาติ หรือภาคอีสานจะมั่นคงยั่งยืนอะไรเลยจากธุรกิจขุดหาของเก่าขาย และคงมีคนอีสานอีกหลายล้านคนที่รู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ฝักใฝ่ หรือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มใด เป็นเพียงนักวิชาการธรรมดา ทำหน้าที่ตามปกติ คือ สอน วิจัย บริการวิชาการ แต่จะให้วางตัวเป็นกลางและวางเฉยแบบไม่รู้สึกรู้สาปัญหาของชาวบ้าน คงทำแบบนั้นไม่ได้...        
17 กันยายน 2558


Friday, August 21, 2015

นักผังเมืองชี้ ผังเมืองรวมเอื้อนายทุน ส่อมีปัญหาทั้งประเทศ



(สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม) ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมืองชี้ร่างผังเมืองรวมระยองเอื้อประโยชน์นักลงทุน-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ  แนะรัฐควรตัดสินใจปรับลดและกำหนดอายุพื้นที่อุตสาหกรรมให้ชัดเจน  พร้อมระบุร่างใหม่มีปัญหาทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้

Sunday, July 26, 2015

หลากหลายเสียงของผู้ใช้สิทธิชุมนุมเพื่อปกป้องฐานทรัพยากร ต่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558


(ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)

อีกไม่นานพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็จะมีผลบังคับใช้ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ได้พิจารณาเห็นชอบผ่านร่างดังกล่าวไปแล้ว (ทั้งวาระ 2 และวาระ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา) และมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งจะมีผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศ

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีทั้งสิ้น 35 มาตรา อาทิ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร เขตพระบรมมหาราชวัง, ห้ามชุมนุมที่รัฐสภา ทำเนียบ และศาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในระยะห่างไม่เกิน 50 เมตร, ห้ามขวางทางเข้า-ออก รบกวนการทำงานการใช้บริการหน่วยงานรัฐ ทั้งท่าอากาศยาน  ท่าเรือ สถานีรถไฟ  ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล  สถานศึกษา  ศาสนสถาน  สถานทูต สถานกงสุล และสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ, ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งระบุวัตถุประสงค์ และวัน เวลา และสถานที่ที่จะทำการชุมนุมด้วย, ห้ามปราศรัยในเวลาเที่ยงคืนถึง 06.00 น. ต้องไม่เคลื่อนการชุมนุมในเวลา 18.00 - 06.00 น. และการสลายการชุมนุมต้องขออนุมัติจากศาล เป็นต้น