แม่น้ำเทพาที่น่าห่วง
(โดย กานต์ ตามี่ ฝ่ายกฎหมายปกครองมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน)
#สิทธิชุมชนกับการต่อสู้ของภาคประชาชน
----------------------------------------------
แม่น้ำเทพาเป็นลำน้ำสายสำคัญของจังหวัดสงขลา ที่มีต้นน้ำอยู่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี เป็นแม่น้ำที่ก่อกำเนิดชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนอำเภอเทพา อันได้แก่ ชุมชนปากน้ำเทพา ชุมชนพระพุทธ ชุมชนบ้านคลองประดู่ และชุมชนบางหลิง โดยชาวบ้านในแต่ละชุมชนนั้น ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การตกปู ตกหมึก ตกปลา รุนกุ้ง รุนเคย นอกจากนี้ยังมีของขึ้นชื่อของอำเภอเทพาที่ทุกคนจะพลาดไม่ได้ก็คือ กะปิที่ทำจากกุ้งเคย ที่ต้องรุนมาจากแม่น้ำเทพาเท่านั้น แล้วนำมาทำเป็นกะปิ ในแบบภูมิปัญญาชาวบ้านของอำเภอเทพา จนออกมาเป็นของอร่อยเมืองเทพาที่มีชื่อเสียง (โดย กานต์ ตามี่ ฝ่ายกฎหมายปกครองมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน)
#สิทธิชุมชนกับการต่อสู้ของภาคประชาชน
----------------------------------------------
แต่นับวันแม่น้ำเทพาก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากการมีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่รุกคืบเข้ามาก่อสร้างอย่างมากหลาย ดังเช่นกรณี โครงการสร้างท่าเทียบเรือของบริษัทหนึ่ง ได้เข้ามาดำเนินการบริเวณแม่น้ำเทพา หมู่ ๔ บ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบอย่างหนักแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม จนไม่สามารถกลับมาเป็นดังเดิมได้
โดยบริษัทนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการสร้างท่าเทียบเรือ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโครงการดังกล่าวมาก่อน จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเทพา และชาวบ้านอำเภอเทพา เพิ่งจะมาทราบว่า บริเวณแม่น้ำเทพา ได้มีบริษัทหนึ่งได้เข้ามาดำเนินโครงการสร้างท่าเทียบเรือแล้ว ชาวบ้านเทพาจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตัวเอง โดยการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐต่างๆ แต่สุดท้ายผลตอบรับแทบทุกครั้ง คือ ไม่มีหน่วยงานใดอยู่ข้างชาวบ้านเลย มันจึงเป็นปัญหาที่ต้องมานั่งทบทวนว่า จริงๆแล้วหน่วยงานรัฐที่ประชาชนหวังพึ่งนั้น ทำงานอย่างสมชื่อข้าราชการหรือไม่
ชะตากรรมของชาวบ้านเทพาก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในเวลาต่อมา ก็ได้มีโครงการขุดปากร่องแม่น้ำเทพาเข้ามาอีก ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๔ ได้มาดำเนินการขุดปากร่องน้ำเทพาในต้นปี ๒๕๖๑ ทั้งๆที่ขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาถึงสามปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ซึ่งการดำเนินการโดยปกติจะดำเนินการขุดลอกในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูจับสัตว์น้ำของชาวประมง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องทำมาหากินกับทะเลในช่วงนั้น แต่ในปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานกลับเลือกดำเนินการในช่วงฤดูจับสัตว์น้ำของชาวบ้าน จึงส่งผลกระทบให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ เนื่องจากน้ำขุ่น สกปรก สัตว์น้ำหนีหายไปหมด ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ อีกทั้งวิธีการขุดลอกยังสร้างความเสียหายให้กับหาดทรายบางหลิงที่ชาวบ้านเทพาใช้ร่วมกันอีกด้วย ชาวบ้านเทพา หมู่ที่ ๔ บ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง จึงต้องออกมาทำการร้องเรียน ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีหน่วยงานใดๆ ออกมาชี้แจ้งเพื่อทำความเข้าใจ และทำป้ายติดประกาศให้ประชาชนรับทราบในภายหลัง
จากการดำเนินการทั้งสองโครงการข้างต้น ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเทพา และชาวบ้านอำเภอเทพา ต้องรวมตัวกันเพื่อฟ้องทั้งสองโครงการเป็นคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยดำเนินการฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกใบอนุญาตและการควบคุมดูแลตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งหมดหกหน่วยงาน ในคดีหมายเลขดำที่ ส.๔/๒๕๖๑ เพื่อให้มีการเพิกถอนโครงการและดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งต่อมาศาลได้เรียกให้บริษัทเจ้าของโครงการเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมด้วย โดยปัญหาของคดีนี้ที่ทั้งสองโครงการเป็นอย่างเดียวกัน คือ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างถูกต้อง ครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการสร้างท่าเทียบเรือ นั้น ยังมีการลงลายมือชื่อที่น่าสงสัย ที่มีทั้งลายมือของคนตายไปแล้ว และลายมือชื่อของคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อยู่เป็นจำนวนมาก ในรายงานการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ถูกอ้างว่า มีคนที่ลงลายมือชื่อเห็นด้วยกับโครงการฯ
คดีประเภทนี้ แม้จะไม่ใช่คดีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย แต่ก็เป็นคดีแรกที่ชาวบ้านเทพาได้ร่วมกันต่อสู้อย่างเข้มแข็ง โดยนำบทเรียนที่เกิดขึ้นกลับมาทบทวนว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่โครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งนับวันยิ่งเข้ามาจ่อประตูบ้านได้อย่างไร เช่น ทางชุมชนควรมีการดำเนินการจัดกิจกรรมในชุมชนอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ เรียนรู้ให้เท่าทันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ถูกหลอก และสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าของโครงการต่างๆ และการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ อยู่เสมอว่า เข้ามาดำเนินการอะไรอีกบ้าง รวมถึงหากมีการคุกคามข่มขู่ จะต้องรีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานเป็นอย่างน้อยหรือเพื่อดำเนินคดีต่อไป ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนในการเข้าร่วมเวทีเรียนรู้แนวทางการต่อสู้ทางด้านกฎหมาย ทางด้านวิธีการจากชุมชนอื่นๆ ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้ชุมชนที่รักและหวงแหนต้องถูกทำลายจนเลือนหายไปกับสังคมที่ถูกปฏิบัติโดยโครงการพัฒนาที่ชุมชนไม่ต้องการ
https://www.facebook.com/CommunityresourcecentreThailand/posts/2088902534557818?__tn__=K-R